การใช้คำในภาษาไทย มีความสำคัญมาก แม้ว่าน้อง ๆ จะคุ้นเคยกับภาษาไทยดีในระดับหนึ่งแล้ว แต่แน่ใจหรือเปล่าคะว่าใช้คำกันได้อย่างถูกต้องแล้ว เพราะการใช้คำให้ถูกก็ถือเป็นเรื่องสำคัญค่ะ ดังนั้นบทเรียนหลักภาษาไทยในวันนี้จะพาน้อง ๆ ไปเรียนรู้เรื่องการใช้คำต่าง ๆ ได้ถูกต้องกันค่ะ จะมีอะไรบ้างไปเรียนรู้พร้อม ๆ กันเลยค่ะ
การใช้คำ
การใช้คำกำกวม
คำกำกวม คือ การใช้คำหรือภาษาที่มีความหมายไม่ชัดเจน เป็นเหตุให้การสื่อสารผิดพลาด มีลักษณะสำคัญดังนี้
– ใช้คำขยายผิดที่
– ใช้กลุ่มคำหรือคำประสมที่อาจเป็นประโยคได้
– ใช้คำที่มีหลายความหมาย (พ้องรูปพ้องเสียง)
– เว้นวรรคไม่ถูกต้อง
เกร็ดน่ารู้ เกี่ยวกับการใช้คำขยายผิดที่ วิธีที่สังเกตกันอย่างง่าย ๆ ว่าประโยคนี้เป็นการใช้คำกำกวมหรือไม่ ให้ดูว่าผู้ ที่ ซึ่ง อัน อยู่หลังคำไหน เพราะเมื่อคำเหล่านี้ไปหลังคำไหนก็มักจะขยายคำนั้น ถ้าไปขยายแล้วไม่เข้าใจ อ่านแล้วสับสน หมายความว่าวางคำขยายผิดนั่นเองค่ะ
การใช้คำฟุ่มเฟือย
เป็นการใช้คำที่เกินความจำเป็น ความหมายไม่กระชับรัดกุม บางครั้งเป็นการใช้คำผิดความหมาย หรือผิดหลักการใช้ภาษา อาจทำให้ประโยคมีความยืดเยื้อจนผู้ฟังจับใจความได้ยาก เช่น การติดพูดว่า ทำการ, มีการ, ทำความ, มีความ, แบบว่า, ในส่วนนี้ และคำเชื่อมต่าง ๆ ที่บางครั้งก็เผลอใช้ติด ๆ กันโดยไม่รู้ตัว เช่น ที่, ซึ่ง, อัน, แล้ว เป็นต้น
เกร็ดน่ารู้ วิธีแก้ไขคำฟุ่มเฟือยอย่างง่าย คือลองตัดคำออก ถ้าตัดคำไหนออกแล้วประโยคยังเข้าใจได้อยู่ ความหมายไม่เปลี่ยนแปลง แสดงว่านั่นเป็นคำฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็น
การใช้คำให้ถูกตามหลักภาษา
การใช้คำบุพบท กับ,แก่,แด่,ต่อ ให้ถูกต้อง มีลักษณะดังนี้
กับ มีความหมายว่า รวมกัน ใช้เชื่อมคำหรือความเข้าด้วยกัน
แก่ มีความหมายว่า สำหรับ ใช้นำหน้านามฝ่ายรับ ผู้ที่มีศักดิ์เสมอกันหรือต่ำกว่าผู้ให้
แด่ มีความหมายว่า สำหรับ เพื่อ อุทิศ ใช้นำหน้านามฝ่ายรับ ซึ่งมีศักดิ์สูงกว่าผู้ให้
ต่อ มีความหมายว่า เฉพาะ ใช้เพื่อแสดงความหมายของการมอบสิ่งของให้ต่อหน้า หรืออยู่ในบริบทของการประจันหน้า
สำนวนต่างประเทศ
โครงสร้าง โครงสร้างภาษาไทยจะเป็นแบบ ประธาน + กริยา + กรรม แต่ถ้าขึ้นต้นด้วยกรรมก็เป็นสำนวนต่างประเทศ
ต่อการ หนังสือเล่มเหมาะสมต่อการเป็นแบบเรียน ถ้าตัดต่อการออกความหมายยังเหมือนเดิม
การใช้ลักษณนาม ภาษาไทยมีลักษณะนามของแต่ละคำ เช่น ผู้ชาย 2 คน คือการเรียกลักษณนามแบบไทย แต่ถ้าเรียกว่า 2 หนุ่ม เป็นสำนวนต่างประเทศ
การใช้คำว่า ให้ความ มีความ ในความ ทำความ เป็นคำฟุ่มเฟือย และเป็นสำนวนต่างประเทศอีกด้วย
ในอนาคตอันใกล้ – ฉันจะไปเรียนต่างประเทศในอนาคตอันใกล้
นำมาซึ่ง – การแสดงความคิดเห็นจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ยังมีคำที่เป้นสำนวนต่างประเทศอีก อย่างเช่นคำว่า เต็มไปด้วย, มันเป็นอะไรที่, เป็นที่, ในความคิดของฉัน, มันเป็นการยากที่, รักษาไว้ซึ่ง, ก่อให้เกิด เป็นคำที่เรามักเห็นกันได้บ่อย ๆ ในประโยคภาษาอังกฤษ เวลาแปลก็เลยมักจะแปลตามตัว ซึ่งไม่ควรเอามาใช้ในทั่วไป เพราะผิดหลักเรื่องการใช้คำ
เห็นไหมคะน้อง ๆ ว่าคำที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เพราะความเคยชิน ทำให้เราแทบไม่สังเกตและดูไม่ออกเลยว่าใช้กันถูกหรือไม่อย่างไร ดังนั้นเพื่อการใช้คำในภาษาไทยในถูกต้อง อย่าลืมหมั่นทบทวนความรู้และดูคลิปบทเรียนเรื่องการใช้คำในภาษาไทยระหว่างทำแบบฝึกหัดนะคะ ไปชมกันเลยค่ะ
อย่าพลาดการติดตามบทความภาษาไทยจาก nockacademy