อิเหนา เป็นวรรณคดีที่ถูกเผยแพร่เข้ามาในไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา น้อง ๆ สงสัยไหมคะว่าจุดเริ่มต้นของนิทานของชาวชวานี้มีจุดเริ่มต้นในไทยอย่างไร เหตุใดถึงถูกประพันธ์ขึ้นเป็นบทละครให้ได้เล่นกันในราชสำนัก ถ้าน้อง ๆ พร้อมหาคำตอบแล้ว เราไปเรียนรู้ประวัติความเป็นมาและเรื่องย่อของอิเหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิงกันเลยค่ะ
ความเป็นมา
อิเหนามีความเป็นมาจากนิทานปันหยี หรือที่เรียกว่า อิเหนาปันหยีรัตปาตี ซึ่งเป็นนิทานที่เล่าแพร่หลายกันมากในชวา เชื่อกันว่าเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ของชวา ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 16 ปรุงแต่งมาจากพงศาวดารชวา อิทธิพลของเรื่องอิเหนาเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกในสมัยอยุธยา จากการที่เจ้าฟ้าหญิงกุณฑลและเจ้าฟ้าหญิงมงกุฎ พระราชธิดาในพระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศ ได้ฟังเรื่องราวจากข้าหลวงชาวชวา เมื่อเห็นว่าเนื้อเรื่องสนุกจึงนำมาแต่งเป็นบทละคร โดยเจ้าหญิงกุณฑลทรงนิพนธ์เรื่องอิเหนาใหญ่ (ดาหลัง) ส่วนเจ้าฟ้าหญิงมงกุฎทรงนิพนธ์เรื่องอิเหนาเล็ก (อิเหนา)
ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้พระราชนิพนธ์อิเหนาขึ้นมาใหม่เป็นบทละคร เรียกว่า ละครใน
อิเหนา
อิเหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิง
ในดินแดนชวาโบราณ มีกษัตริย์ราชวงศ์หนึ่งชื่อ วงศ์อสัญแดหวา หรือ วงศ์เทวา คือ ท้าวกุเรปัน ท้าวดาหา ท้าวกาหลัง และท้าวสิงหัดส่าหรี ปกครองเมืองกันคนละเมืองตามชื่อของตัวเอง ท้าวกุเรปันมีโอรสที่เก่งกล้าสามารถ ชื่อ อิเหนา ท้าวดาหามีธิดาที่มีรูปโฉมงดงามชื่อ บุษบา กษัตริย์ทั้งสองเมืองจึงให้โอรสและธิดาหมั้นกันไว้ตั้งแต่ยังเด็ก แต่เมื่อโตขึ้น อิเหนาต้องเดินทางไปช่วยปลงพระศพพระอัยกีที่เมืองหมันยา จึงได้พบกับจินตะหรา ธิดาท้าวมันหยา อิเหนาตกหลุมรักทำให้ไม่อยากกลับไปแต่งงานกับบุษบา
เมื่อท้าวดาหาทราบเรื่องก็ทรงเคืองจึงประกาศว่าถ้าใครมาขอบุษบาก็จะยกให้ทันที จรกาที่เห็นรูปบุษบาก็ตกหลุมรักจึงมาสู่ขอ เช่นเดียวกับวิหยาสะกำ แต่เมื่อพระบิดาอย่างท้าวกะหมังกุหนิงส่งราชทูตมาสู่ขอ ก็พบว่าท้าวดาหาได้ยกบุษบาให้จรกาไปแล้ว ท้าวกะหมังกุหนิงจึงยกทัพไปหมายจะตีเมืองดาหา ทำให้ท้าวดาหาต้องไปขอความช่วยเหลือจากพี่น้องในวงศ์เทวาทั้งสี่เมืองมาช่วยกันรบ อิเหนาถูกตามตัวกลับอีกครั้ง และครั้งนี้ท้าวกุเรปันก็ยื่นคำขาดว่าถ้าหากไม่กลับมาช่วยรบจะตัดพ่อตัดลูก อิเหนาจึงต้องจำใจจากนางจินตะหรามารบกับท้าวกะหมังกุหนิง จนในที่สุดก็ได้รับชัยชนะ
สรุปเนื้อเรื่อง
จนถึงตอนนี้น้อง ๆ ก็คงจะเข้าใจแล้วใช่ไหมคะว่าทำไมวรรณคดีของชาวชวาเรื่องนี้ถึงได้ถูกนำมาแต่งขึ้นใหม่ในภาษาไทยและโด่งดังเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะเนื้อเรื่องที่สนุกและน่าติดตามนี้เองค่ะที่ทำใครไม่ว่าใครก็ตามที่ได้ยินต่างก็ต้องอยากจะอ่านต่อ รวมถึงยังได้ศึกษาเรื่องวัฒนธรรมและการใช้ภาษาที่แสนจะงดงามในเรื่องได้อีกด้วย สำหรับตัวบทและคุณค่าของวรรณคดี น้อง ๆ จะได้เรียนรู้กันในบทถัดไปนะคะ สุดท้ายนี้อย่าลืมไปดูคลิปการสอนของครูอุ้มเพื่อไม่สับสนเกี่ยวกับตัวละครและเมืองต่าง ๆ ที่ปรากฏในเรื่องนะคะ ไปดูกันเลยค่ะ
อย่าพลาดการติดตามบทความภาษาไทยจาก nockacademy