การพูดมีมากมายหลายประเภท แล้วแต่จุดประสงค์ของผู้พูดว่าต้องการจะสื่อสารออกมาในรูปแบบใด แต่จะมีอยู่ประเภทหนึ่งที่มีหัวข้อให้พูดและต้องแบ่งออกเป็นสองฝ่าย โดยไม่ได้มีเจตนาเพื่อมาทะเลาะกัน เพราะเรากำลังหมายถึงการพูดโต้วาทีและการยอวาที ที่เป็นการพูดแสดงความคิดเห็นในลักษะที่ต่างกัน แต่จะต่างกันอย่างไรบ้างนั้น เราไปเรียนรู้เรื่องนี้พร้อมกันเลยค่ะ
การโต้วาที
การโต้วาที เป็นการแสดงความคิดเห็นโต้แย้งด้วยเหตุผลเพื่อให้ชนะอีกฝ่าย โดยจะแบ่งผู้พูดออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายญัตติและฝ่ายคัดค้านญัตติ และมีกรรมการคอยตัดสินว่าจะให้ฝ่ายใดชนะ โดยแต่ละฝ่ายจะต้องมีข้อมูลเพื่อมาสนับสนุนการพูดของตัวเอง หักล้างแนวคิดของอีกฝ่ายและต้องมีปฏิภาณไหวพริบ
องค์ประกอบของการโต้วาที
- ญัตติ
คือหัวข้อในการโต้วาที จะถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า โดยญัตติที่นำมาเป็นหัวข้อในโต้วาทีนั้นจะต้องเป็นเรื่องที่มีประโยชน์และไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีงามของไทย
- ประธาน หรือผู้ดำเนินการโต้วาที
ประธานจะทำหน้าโดยรวมคือดำเนินการตลอดการโต้วาทีอย่างการกล่าวนำ ชี้แจงญัตติ อธิบายระเบียบการโต้วาที กำหนดเวลาพูด เชิญผู้โต้วาทีฝ่ายญัตติและฝ่ายค้านญัตติ รวมไปถึงการรวบรวมคะแนนของคณะกรรมการเพื่อประกาศผลฝ่ายที่ชนะและกล่าวปิดการโต้วาที
- กรรมการ
กรรมการตัดสินควรมีจำนวนที่เป็นเลขที่เพื่อป้องกันปัญหาคะแนนเท่ากัน โดยคณะกรรมการจะต้องให้ความเป็นธรรม ตัดสินอย่างตรงไปตรงมาตามเหตุผลที่ได้ฟังจากทั้งสองฝ่าย
- ผู้โต้วาที
มี 2 ฝ่าย คือฝ่ายญัตติและฝ่ายค้านญัตติ แต่ละฝ่ายจะมีหัวหน้า 1 คน และมีสมาชิกฝ่ายละ 2-3 คน ลำดับจากพูดจะเริ่มจากหัวน้าฝ่ายญัตติ ต่อด้วยหัวหน้าฝ่ายค้าน และค่อยกลับมาที่สมาชิกฝ่ายญัตติอีกครั้ง
เทคนิคโต้วาที
การป้องกัน หมายถึง การป้องกันญัตติด้วยการหาเหตุผลมาล้อมสาระของญัตติ เพื่อไม่ให้มีช่องโหว่ที่อาจจะเป็นจุดอ่อนให้ฝ่ายค้านเห็น
การโจมตี หมายถึง การกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าไม่มีเหตุผล เหตุผลไม่เพียงพอ
การต่อต้าน หมายถึง การหักล้างเหตุผลของฝ่ายตรงข้ามที่โจมตีด้วยเหตุผลหรือตอบโต้โดยใช้การอ้างอิงที่เชื่อถือได้
การค้าน ในการค้านนั้นสามารถทำได้ 3 วิธี
– ค้านญัตติ เป็นการค้านตัวญัติหรือสาระของญัตติโดยตรงว่าไม่ถูกต้อง
– ด้านเหตุผล เป็นการค้านเหตุผลที่อีกฝ่ายเสนอมา
– ด้านอ้างอิง เป็นการค้านข้ออ้างอิงที่ฝ่ายตรงข้ามยกขึ้นมาพูด
การยอวาที
มีลักษณะคล้ายกับการโต้วาที แบ่งเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายเยิน และฝ่ายยอ มีจำนวนผู้พูดฝ่ายละ 3-4 คน โดยทั้งสองฝ่ายจะยกกันยกช่วยกันยอในหัวข้อนั้น ๆ ลักษณะของการยอวาทีจึงอาจเรียกได้ว่าเป็นการกระแหนะกระแหน ประชดประชัน แดกดัน เหน็บแนม
การโต้วาที แตกต่างจากการยอวาทีอย่างไร
การยอวาทีเริ่มขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2515 เป็นยุคที่การเมืองไทยกำลังเข้มข้น การโต้วาทีทางการเมืองถูกห้าม คนในยุคนั้นจึงคิดการยอวาทีขึ้นมาเพื่อเหน็บแนมในเรื่อที่ไม่สามารถพูดได้ การยอวาทีจึงเป็นการโต้วาทีที่ถูกทำให้เบาลงมา ไม่ได้โต้แย้งเพื่อเอาชนะ แต่เป็นเหมือนการโชว์มากกว่า
แม้ทั้งการโต้วาที การยอวาที จะต่างกันบ้างแต่ก็มีจุดเริ่มต้นเหมือนกันคือการแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะแสดงออกมาอย่างตรง ๆ หรือใช้การเยินยอเพื่อเหน็บแนม นั่นเป็นการสะท้อนว่ากิจกรรมการพูดเหล่านี้มีขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถพูดสิ่งที่คิดได้อย่างอิสระ ไม่ว่าหัวข้อนั้น ๆ จะเป็นเรื่องอะไร นับว่าเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์และเป็นการฝึกให้เราใช้เหตุผลและมีไหวพริบมากขึ้นด้วยค่ะ สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่อยากฟังคำอธิบายแบบสนุก ๆ ก็สามารถไปติดตามดูคลิปการสอนของครูอุ้มได้เลยค่ะ รับรองว่าจะเข้าใจบทเรียนในวันนี้มากขึ้นอย่างแน่นอน ไปดูกันเลยค่ะ
อย่าพลาดการติดตามบทความภาษาไทยจาก nockacademy