จากที่ได้เรียนเรื่องการสร้างคำประสมและคำซ้อนไปแล้ว บทเรียนหลักภาษาไทยในวันนี้จะพาน้อง ๆ ไปเรียนรู้การสร้างคำอีกหนึ่งชนิดที่สำคัญไม่แพ้สองคำก่อนหน้า นั่นก็คือ คำซ้ำ นั่นเองค่ะ คำซ้ำคืออะไร มีวิธีสร้างคำได้อย่างไรบ้าง วันนี้เราไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้พร้อม ๆ กันเลยค่ะ
คำซ้ำ
คำซ้ำคืออะไร?
คำซ้ำ หมายถึง การสร้างคำขึ้นใหม่ โดยนำคำมูลซึ่งส่วนมากเป็นคำพยางค์เดียวมาซ้ำกันแล้วมีความหมายเปลี่ยนแปลงไป อาจเน้นหนักขึ้น หรือเบาลง การออกเสียงคำซ้ำคำเดิมให้ต่อเนื่องกันโดยใช้เครื่องหมายไม้ยมก(ๆ) เติมหลังคำ
ประเภทของคำซ้ำ
คำซ้ำที่ไม่เปลี่ยนเสียง
คำที่นำมาซ้ำกันโดยใช้ไม้ยมก
คำซ้ำที่เปลี่ยนเสียง
คำที่นำมาซ้ำกันจะเปลี่ยนเสียงวรรณยุกต์เพื่อเน้นความหมาย
วิธีสร้างคำซ้ำ
หลักการใช้ไม้ยมก
หลักการใช้ไม้ยมกในคำซ้ำ ต้องใช้กับคำที่เขียนเหมือนกันเท่านั้น ในความหมายและหน้าที่เดียวกัน โดยปกติจะอยู่คำหลังเพื่อซ้ำความหมายของคำให้แตกต่างกันออกไป
คำที่ไม่สามารถใช้ไม้ยมกได้
ความหมายของคำซ้ำ
เมื่อนำคำมาซ้ำกันแล้วจะได้ความหมายที่ต่างกันออกไป ดังนี้
1. ซ้ำแล้วความหมายเปลี่ยนไปเชิงเพิ่มปริมาณ (พหูพจน์) ใช้เมื่อต้องการบอกว่าสิ่งนั้นมีจำนวนมาก
เขามีรถเป็นสิบ ๆ คัน – ปริมาณเพิ่มขึ้น มีรถหลายคัน
เพื่อน ๆ มากันแล้ว – มีเพื่อนมาหลายคน
เด็ก ๆ กำลังกินข้าว – เด็กหลายคนกำลังกินข้าว
2. ซ้ำแล้วความหมายแยกจำนวน ใช้เมื่อต้องการแยกเป็นอย่าง ๆ ไปเป็นสัดส่วน ใช้กับลักษณะนาม
เราได้ค่าแรงเป็นวัน ๆ – ค่าแรงได้เป็นรายวัน
ครูตรวจเล็บนักเรียนเป็นคน ๆ ไป – ครูตรวจเล็บนักเรียนทีละคน
สมศรีหั่นแตงโมเป็นชิ้น ๆ – สมศรีหั่นแตงโมออกทีละชิ้น
3. ซ้ำแล้วความหมายเปลี่ยนไปเชิงลดปริมาณ ใช้เมื่อต้องการบอกความหมายให้เบาลง อ่อนลง
เธอยังเจ็บขาอยู่ค่อย ๆ เดิน – ค่อย ๆ หมายถึงเดินให้ช้าลง
ผู้หญิงที่ใส่เสื้อสีแดง ๆ – ผู้หญิงไม่ได้ใส่เสื้อสีแดงแต่อาจจะเป็นสีที่ใกล้เคียงกับสีแดง
อาหารรสชาติคล้าย ๆ กับที่แม่ฉันทำ – รสชาติอาหารคล้ายกันแต่ไม่เหมือนกัน
4. ซ้ำแล้วความหมายเป็นเชิงคาดคะเน ไม่แน่นอน
เขานั่งอยู่แถวหลัง ๆ – บอกว่านั่งอยู่แถวหลังแต่ไม่ระบุชัดเจนว่าแถวที่เท่าไหร่
บ้านฉันอยู่แถว ๆ ริมน้ำ – บ้านอยู่แถวริมน้ำแต่ไม่ระบุว่าริมน้ำตรงไหน
พรุ่งนี้เราเจอกันดึก ๆ หน่อย – เจอกันตอนดึกแต่ไม่ระบุว่ากี่โมง
5. ซ้ำแล้วความหมายหนักขึ้น เน้นความหมายให้ชัดเจนขึ้น อาจใช้ไม้ยมกหรือเปลี่ยนวรรณยุกต์เพื่อเสียงเพื่อนเน้น
ในที่สุดก็มีวันหยุด ฉันดีใจ๊ดีใจ – เน้นว่าดีใจมาก ๆ
บ้านเพื่อนฉันร้วยรวย – เน้นว่ารวยมา
อาหารที่เธอทำมันเค็มมาก ๆ – เน้นว่ารสชาติเค็มมาก
6. ซ้ำแล้วความหมายเปลี่ยนไป
คนนี้พูดภาษาญี่ปุ่นแบบงู ๆ ปลา ๆ – งู ๆ ปลา ๆ หมายถึง มีความรู้เพียงเล็กน้อย, รู้ไม่จริง, รู้ไม่ลึกซึ้ง
อยู่ ๆ ฉันก็สะดุ้งตื่น – อยู่ ๆ หมายถึง ไม่มีเหตุผล
เรื่องกล้วย ๆ แค่นี้ฉันทำได้ – กล้วย ๆ หมายถึงง่าย
จบไปแล้วนะคะสำหรับเรื่องการสร้างคำซ้ำ ง่ายกว่าที่คิดใช่ไหมล่ะคะ? คำซ้ำเป็นคำที่หลายคนมองว่าง่าย ไม่มีอะไรมากแค่เติมไม้ยมก แต่บางครั้งในข้อสอบก็อาจจะมีโจทย์ที่หลอกให้เราสับสนได้ เพื่อไม่ให้พลาดในการทำข้อสอบ น้อง ๆ ควรหมั่นฝึกฝนและทบทวนอยู่เสมอนะคะ โดยในระหว่างที่ทำแบบฝึกหัดก็อย่าลืมเปิดคลิปการสอนของครูอุ้มดูไปด้วยเพื่อฟังคำอธิบายและหลักการจำอย่างง่าย ๆ ไปชมกันเลยค่ะ