บทละครพูดเรื่องเห็นแก่ลูก เป็นบทละครพูดเรื่องแรกของไทยที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ประพันธ์ โดยมุ่งหวังให้ละครเป็นตัวช่วยกล่อมเกลาจิตใจประชาชน แต่นอกจากตัวบทจะมีความโดดเด่นจนได้รับความนิยมอย่างมากแล้ว ยังแฝงแนวคิดมากมายไว้ในเรื่อง จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ไปเรียนรู้เรื่องพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
ตัวบทเด่น ๆ ใน บทละครพูดเรื่องเห็นแก่ลูก
ตัวบทที่ 1
พระยาภักดี : ใครวะ
อ้ายคำ : อ้างว่าเป็นเกลอเก่าของใต้เท้า ผมบอกว่าใต้เท้ายังไม่กลับจากออฟฟิศก็ไม่ยอมไป เดินเรื่อยขึ้นมาที่นี่ว่าจะคอยพบใต้เท้า
พระยาภักดี : แล้วยังไงล่ะ
บทสนทนานี้เป็นบทสนทนาของพระยาภักดีนฤนาถกับอ้ายคำบ่าวรับใช้ สิ่งที่เด่นชัดที่สุดคือระดับภาษาผ่านการสนทนาระหว่างนายกับบ่าวที่มีการใช้ภาษาแตกต่างกันตามสถานะของผู้พูด
ตัวบทที่ 2
พระยาภักดี : (มองดู) ฉันไม่สู้แน่ใจ ดูเหมือนจะได้จำได้คลับคลา
นายล้ำ : ก็ยังงั้นซิครับ ใต้เท้ามีบุญขึ้นแล้วจะมาจดมาจำคนเช่นผมยังไงได้
พระยาภักดี : ฮือ! พิศ ๆ ไปก็ออกจะจำได้ นายล้ำไม่ไหม
บทสนทนาระหว่างพระยาภักนฤนาถกับอดีตเพื่อนเก่าอย่างนายล้ำที่เปลี่ยนไปจนแทบจำไม่ได้ ในบทนี้จะเด่นเรื่องของคำศัพท์และสำนวนเก่า ๆ ที่ไม่ได้เห็นบ่อยนักในยุคสมัยปัจจุบัน เช่น มีบุญขึ้นแล้ว หมายถึงมีชีวิตที่ดีขึ้น
ตัวบทที่ 3
แม่ลออ : …ถ้าใครบอกดิฉันว่าเป็นคนไม่ดี ดิฉันไม่ยอมเชื่อเป็นอันขาดเทียว แต่ท่านก็เป็นคนดีจริง ๆ อย่างทิ่ดิฉันนึกเดาเอาใจ คุณพ่อนี่ก็ได้บอกดิฉันว่างั้น จริงไหมคะคุณพ่อ
นายล้ำ : ถ้าใครบอกหล่อนว่าพ่อหล่อนที่ตายน่ะเป็นคนไม่ดีละก็หล่อนเป็นไม่ยอมเชื่อเลยเทียวหรือ?
แม่ลออ : ดิฉันจะเชื่อยังไง ดูในรูปก็เห็นว่าเป็นคนดี
บทสนทนาระหว่างแม่ลออกับนายล้ำ ซึ่งแม่ลออไม่รู้ว่านายล้ำคือบิดาแท้ ๆ จึงพูดถึงบิดาที่เข้าใจว่าเสียชีวิตไปแล้วในแง่ดีตามที่ได้ฟังมาจากพระยาภักดีนฤนาถ ซึ่งบทนี้โดดเด่นเพราะเป็นจุดที่ทำให้นายล้ำละอายแก่ใจจนในที่สุดก็ไม่บอกความจริงกับแม่ลออว่าเป็นบิดาแท้ ๆ เป็นที่มาของชื่อเรื่อง เห็นแก่ลูก
คุณค่า
คุณค่าด้านเนื้อหา
ช้อคิดในบทละครพูดเรื่องเห็นแก่ลูก สะท้อนให้เห็นถึงความรักที่พ่อแม่มีให้ลูกถึงแม้จะมีช่วงเวลาที่หลงผิด แต่สุดท้ายก็นึกถึงความสุของลูกเป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงเรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นายล้ำกับพระยาภักดีเป็เพื่อนที่เคยรัชราชการตำแหน่งเดียวกัน แต่ชีวิตของนายล้ำดิ่งลงเหวหลังจากทำเรื่องไม่ดีจนเป็นเหตุให้ต้องติดคุก ผลกรรมคือหมดอนาคตและไม่ได้อยู่กับลูกอีกต่อไปได้
คุณค่าด้านสังคม
ในบทละครพูดเรื่องเห็นแก่ลูก สะท้อนค่านิยมวัฒนธรรมในยุคสมัยนั้นไดอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย และสภาพสังคม ทำให้เห็นถึงความเป็นอยู่ บ้านเมืองในสมัยรัชกาลที่ 6
คุณค่าด้านวรรณศิลป์
วรรณศิลป์ที่โดดเด่นในวรรณคดีเรื่องนี้คือการใช้ถ้อยคำที่สมจริง ทำให้แสดงอารมณ์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ มีการใช้ระดับภาษาที่เด่นชัดและถูกต้องเหมาะสม นอกจากนี้ในเรื่องยังมีทั้งสำนวนเก่า ๆ ที่หาฟังยาก การใช้คำเก่าที่ไพเราะและยังมีการทับศัพท์อีกด้วย
จบไปแล้วนะสำหรับบทละครเรื่องเห็นแก่ลูกในส่วนของตัวบทเด่น ๆ ที่น่าสนใจและคุณค่าข้อคิดที่อยู่ในเรื่อง น้อง ๆ อ่านแล้วคงจะสัมผัสได้ถึงความงดงามของภาษาที่เรียบง่ายและข้อคิดที่ได้จากเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่อของครอบครัวที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ถือว่าเป็นวรรณคดีที่มีประโยชน์สามารถนำไปปรับใช้ได้ทุกยุคทุกสมัยจริงค่ะ สุดท้ายนี้น้องๆ อย่าลืมไปรับชมคลิปการสอนของครูอุ้มเพื่อฟังคำอธิบายเพิ่มเกี่ยวคำศัพท์ ตัวบทเด่น ๆ และเกร็ดความรู้อื่น ๆ อีกมากมาย ไปรับชมและรับฟังเลยค่ะ
อย่าพลาดการติดตามบทความภาษาไทยจาก nockacademy