ราชาธิราช เป็นวรรณคดีประเภท พงศาวดาร ที่มีการแปลมาจากพงศาวดารมอญ น้อง ๆ หลายคนคงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าพงศาวดารก็คือเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับประเทศชาติหรือพระมหากษัตริย์ แต่ทราบกันหรือไม่คะว่าทำไมในแบบเรียนภาษาไทยของเรานั้นถึงต้องเรียนเรื่องราชาธิราช ที่เป็นพงศาวดารมอญด้วย วันนี้เราจะพาน้อง ๆ ทุกคนไปเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของเรื่องราชาธิราชรวมไปถึงเรื่องย่อ ซึ่งในบทที่เราจะเรียนนี้คือตอน สมิงพระรามอาสา เรื่องราวจะเป็นอย่างไรบ้าง ไปศึกษาเรื่องนี้พร้อม ๆ กันเลยค่ะ
ราชาธิราช
ประวัติความเป็นมา
ราชาธิราชเป็นวรรณคดีร้อยแก้วที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ร่วมด้วยพระยาอินทรอัคคราช พระภิรมรัศมี และพระศรีภูริปรีชา แปลและเรียบเรียงเรื่องราวของพระเจ้าราชาธิราชซึ่งปรากฏอยู่ในพงศาวดารมอญให้เป็นภาษาไทยเมื่อปี พ.ศ.2328
ผู้เรียบเรียง
เจ้าพระยาพระคลังเป็นกวีเอกที่ได้รับการยกย่อง มีผลงานกวีนิพนธ์มาตั้งแต่สมัยธนบุรี แต่เรื่องที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักแพร่หลายนั้นแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เช่น สามก๊ก กากีคำกลอน ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก* กัณฑ์กุมารและกัณฑ์มัทรี ฯลฯ
ลักษณะคำประพันธ์
เป็นวรรณคดีร้อยแก้ว ใช้บรรยายโวหารในการเล่าเรื่อง การประพันธ์ร้อยแก้วของไทย ก่อนสมัยรัตนโกสินทร์นิยมใช้ในงานเขียนประเภท ตำนาน พงศาวดาร การจดบันทึกเกี่ยวกับพระราชพิธี ตำราต่าง ๆ กฎหมาย เป็นต้น จนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประเพณีการเขียนร้อยแก้วก็เริ่มมีการสร้างโครงเรื่อง แก่นเรื่อง มีวิธีเล่าเรื่องแบบบันเทิงคดี
ตัวละครและเรื่องย่อ
ราชาธิราช ตอน สมิงพระรามอาสา
ตัวละคร
เกร็ดน่ารู้ สมิงเป็นชื่อเรียกตำแหน่งขุนนางใหญ่ของมอญ สมองพระรามเป็นทหารเอกของพระเจ้าราชาธิราชแห่งกรุงหงสาวดี
เรื่องย่อ
พระเจ้ากรุงจีน มีทหารเอกชื่อกามะนี เป็นทหารฝีมือดีที่ยากจะใครเทียบ พระเจ้ากรุงจีนนึกอยากเห็นว่าจะมีใครที่พอจะมีฝีมือมาสู้กับกามะนีได้ จึงปรึกษากับเสนาบดี ได้ความว่าทหารที่พอจะมีฝีมือทัดเทียมกับกามะนีได้คือกรุงรัตนบุระอังวะกับกรุงหงสาวดี พระเจ้ากรุงจีนจึงยกทัพมาที่เมืองอังวะแล้วแต่งพระราชสาสน์ จัดเครื่องบรรณาการนำไปถวายพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง โดยเนื้อความในพระราชสาส์นกล่าวว่าต้องการให้พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องออกมาถวายบังคมและต้องการทหารขี่ม้ารำทวนมาสู้กัน โดยที่หากฝ่ายอังวะแพ้จะต้องยกเมืองให้ แต่หากฝ่ายพระเจ้ากรุงจีนแพ้จะยกทัพกลับ เจ้าฝรั่งมังฆ้องจึงประกาศหาคนที่จะมาสู้กับกามะนี แต่ก็ไม่มีผู้ใดอาสา ด้านสมิงพระรามที่รู้ข่าวก็มีความคิดว่าหากอังวะแพ้และเสียเมือง พระเจ้ากรุงจีนจะต้องยกทัพไปตีกรุงหงสาวดีต่อแน่ สมิงพระรามที่ไม่กลัวทหารจีนจึงออกอาสาไปสู้กับกามะนี โดยไม่ได้หวังรับลาภยศ แต่ไม่อยากให้บ้านเมืองเดือดร้อน โดยสมิงพระรามทูลขอม้าฝีเท้าดี และได้เลือกม้าของหญิงม่ายคนหนึ่งมาฝึกหัดจนคล่องแคล่ว ก่อนจะทูลขอตะกรวยกับขอเหล็กมาผูกข้างม้า สำหรับใส่ศีรษะกามะนี
เมื่อถึงวันท้าทวน สมิงพระรามเห็นว่า กามะนีมีความชำนาญด้านการรบเพลงทวนมาก อีกทั้งยังสวมหุ้มเกราะไว้แน่นหนา สมิงพระรามจึงออกอุบายว่าให้แต่ละฝ่ายแสดงท่ารำให้อีกฝ่ายรำตามก่อนที่จะต่อสู้กัน เพื่อหาช่องทางที่จะแทงทวนให้ถูกตัวกามะนีได้ เมื่อได้หลอกล่อให้กามะนีรำตามในท่าต่าง ๆ จึงเห็นช่องว่างใต้รักแร้กับบริเวณเกราะซ้อนท้ายหมวกที่เปิดออกได้ สมิงพระรามจึงหยุดรำให้ต่อสู้กันโดยทำทีว่าสู้ไม่ได้ เมื่อได้ทีก็สอดทวนแทงซอกใต้รักแร้ แล้วฟันย้อนกลับ ตัดศีรษะของกามะนีขาด ใส่ตะกรวยโดยไม่ให้ตกดิน แล้วนำมาถวายพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง เมื่อฝ่ายจีนแพ้ พระเจ้ากรุงจีนก็สั่งให้ยกทัพกลับตามสัญญา พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องพระราชทานตำแหน่งมหาอุปราชและพระราชธิดาให้แก่สมิงพระรามตามที่ได้รับสั่งไว้
จบไปแล้วนะคะสำหรับประวัติความเป็นมารวมถึงเรื่องย่อของราชาธิราชตอนสมิงพระรามอาสา น้อง ๆ พอจะเข้าใจเนื้อเรื่องหลัก ๆ ที่สำคัญของตอนนี้กันมากขึ้นไหมคะ ราชาธิราชเป็นวรรณคดีที่มีความยาวมาก ตอนสมิงพระรามอาสาเป็นอีกหนึ่งตอนที่มีความสำคัญ แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญและความจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมืองแม้จะถูกจับเป็นเชลยอยู่ของสมิงพระราม สุดท้ายนี้ ถ้าหากน้อง ๆ คนไหนอยากฟังคำอธิบายเพิ่มเติมที่ทั้งสนุกและได้ความรู้ด้วยกันแล้วนั้น ก็ตามไปดูคลิปการสอนย้อนหลังของครูอุ้มได้เลยค่ะ ในคลิปจะมีการอธิบายที่สนุก ฟังเพลิน ๆ ระหว่างทำแบบฝึกหัดไปด้วยได้ แล้วมาเจอกันต่อในบทต่อไป เรื่องการศึกษาตัวบทเด่น ๆ ในราชาธิราชกันนะคะ