บทนำ
สวัสดีน้อง ๆ ทุกคน วันนี้เราจะพาไปพบกับบทเรียนง่าย ๆ ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้นั่นก็คือเรื่อง มารยาทในการฟังที่ควรปฏิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องที่เด็ก ๆ ควรจะเรียนรู้ไว้ เนื่องจากเราต้องใช้ทักษะการฟัง
ในทุก ๆ วัน แต่การจะฟังอย่างมีมารยาทนั้นเราจะต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง ถ้าน้อง ๆ คนไหนอยากรู้ เดี๋ยวเราไปดูบทเรียนเรื่องนี้พร้อม ๆ กันเลยดีกว่า
มารยาท คืออะไร
สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่กำลังสงสัยว่ามารยาทคืออะไร ทำไมเราถึงต้องมีคำนี้ในการฟัง หรือการสื่อสารในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย
ตามความหมายโดยรวมแล้ว คำว่า มารยาท หมายถึง พฤติกรรม หรือการกระทำที่ไม่ว่าจะเป็นการพูดจา การนั่ง การกิน การยืน หรือการแต่งตัวที่อยู่ในกรอบของความสุภาพเรียบร้อย เหมาะสมตามกาลเทศะ เหมาะสมกับบุคคล หรือสถานที่
ดังนั้น ถ้าเราพูดจาอ่อนหวาน กริยาท่าทางสุภาพเรียบร้อยก็จะถือว่าเราเป็นคนที่มีมารยาทดี
ความหมายของการฟัง
การฟัง หมายถึง ความสามารถในการได้ยินผ่านหู แล้วรับรู้ เข้าใจ ไปจนถึงขั้นตอนของการตีความ หรือรู้ว่าเนื้อเรื่องสำคัญของสิ่งที่ฟังอยู่คืออะไร ซึ่งถ้าหากเรามีความสามารถในการฟังที่ดี นอกจากจะช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่กำลังฟังแล้ว ก็ยังช่วยให้เราบอกเล่าเรื่องที่ฟังให้กับคนอื่นได้อย่างถูกต้องอีกด้วย
จุดมุ่งหมายในการฟัง
การสื่อสารในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นการฟัง การพูด การอ่าน หรือการเขียนก็ล้วนแล้วแต่ต้องมีจุดมุ่งหมาย หรือความต้องการที่จะสื่อสารออกมา เช่นเดียวกันกับการฟังที่ต้องมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เรารู้ว่าเราจะต้องฟังสิ่งนั้นไปเพื่ออะไร โดยจะแบ่งจุดมุ่งหมายของการฟังออกเป็น 3 ข้อใหญ่ ๆ ดังนี้
1) การฟังเพื่อความรู้
สำหรับจุดมุ่งหมายของการฟังเพื่อความรู้ เป็นการฟังเนื้อหาสาระที่ทำให้เราเกิดปัญญา เกิดความรู้ อย่างการฟังครูสอนในห้องเรียน ฟังข่าวสารทางโทรทัศน์ ฟังพยากรณ์อากาศทางวิทยุ หรือการฟังเพื่อนพูดรายงงานหน้าชั้นเรียน ซึ่งเมื่อเราได้ฟังแล้วก็จะนำไปคิด วิเคราะห์ หรือตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่ฟังต่อได้
2) การฟังเพื่อความเพลิดเพลิน
จุดมุ่งหมายต่อมาคือการฟังเพื่อความเพลิดเพลิน ซึ่งเรามักจะได้ใช้ในชีวิตประจำวันบ่อย ๆ เพราะเป็นการฟังที่ไม่ต้องใช้การครุ่นคิด ไม่ต้องตีความ เพียงแค่ฟังให้เกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลินใจอย่างการฟังเพลง ฟังดนตรีสด ฟังเรื่องตลกขบขัน หรือฟังเสียงตามธรรมชาติ โดยการฟังแบบนี้ก็จะขึ้นอยู่กับความชอบ หรือความต้องการของเราด้วย
3) การฟังเพื่อได้คติ และความจรรโลงใจ
สุดท้ายเป็นการฟังเพื่อให้ได้คติสอนใจ หรือความจรรโลงใจ น้อง ๆ หลายคนอาจจะไม่คุ้นชินกับการฟังในข้อนี้มากนัก แต่ความจริงแล้วมันเป็นการฟังที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี เช่น การฟังพระเทศนา ฟังนิทานที่มีข้อคิดคติสอนใจ รวมทั้งการฟังกลอน
หรือบทกวีที่โดยรวมแล้วจะเป็นการฟังเพื่อทำให้จิตใจของเราคิดดี ทำดี หรือฟังเพื่อให้ได้ข้อคิดไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตด้วย
มารยาทของผู้ฟังที่ดีควรทำอย่างไร?
1.ฟังอย่างเรียบร้อยตั้งใจ
มารยาทข้อแรกที่เราควรต้องมีเมื่อฟังผู้อื่นพูด คือการตั้งสมาธิ และตั้งใจฟังสิ่งที่ผู้พูดกำลังจะสื่อสารกับเรา ให้เราตั้งใจฟังว่าเนื้อหาสาระสำคัญที่ผู้พูดต้องการจะบอกเราคืออะไร เช่น ถ้าเราต้องฟังเพื่อนพูดรายงงานหน้าชั้นเรียน เราควรฟังว่า
เพื่อนทำรายงานเรื่องอะไร และต้องการจะนำเสนอเรื่องอะไรบ้าง
2. ไม่พูด หรือส่งเสียงรบกวนขณะที่ผู้อื่นกำลังพูด
ข้อนี้เป็นมารยาทที่น้อง ๆ ทุกคนต้องให้ความสำคัญมาก ๆ เพราะเมื่อมีผู้พูดก็ต้องมีผู้ฟังเป็นธรรมดา ดังนั้น ทุกครั้งที่เราเห็นผู้อื่นกำลังพูดอยู่ เราควรที่จะเงียบ และตั้งใจฟัง ไม่ควรพูดแทรก หรือส่งเสียงรบกวนผู้พูดเด็ดขาด
3. ปรบมือเพื่อให้เกียรติผู้พูด
ข้อนี้เป็นมารยาทสากลที่ทุกคนต้องฝึกฝนให้เป็นนิสัย ทุกครั้งที่เพื่อนของเราออกไปนำเสนองานหน้าชั้นเรียน หรือไปฟังผู้อื่นพูดบนเวที เมื่อเขาพูดจบแล้วให้ปรบมือเพื่อเป็นการให้เกียรติผู้พูด
4. ยกมือถามเมื่อรู้สึกสงสัย
การยกมือถามเมื่อเรารู้สึกสงสัยเป็นเรื่องที่เราสามารถทำได้ และเป็นมารยาทที่ดี แต่น้อง ๆ ต้องคำนึงถึงสถานการณ์ ณ ขณะนั้นด้วยว่าเราสามารถยกมือถามได้หรือไม่ เช่น ในการนำเสนองานหน้าชั้นเรียนเราควรให้เพื่อนของเรารายงานจนจบก่อน แล้วเราจึงยกมือถามเพื่อไม่เป็นการทำลายสมาธิของเพื่อนในขณะที่กำลังพูดอยู่ หรือในงานประชุมที่มีคนกำลังพูดอยู่บนเวทีเราควรรอให้ผู้พูดเว้นช่วงให้เราถามในตอนท้ายแล้วค่อยยกมือถามจึงจะเหมาะสมกว่า
5. รักษากฎระเบียบของสถานที่ที่เราไปนั่งฟัง
การเรียนรู้กฎระเบียบของสถานที่ที่เราไปนั่งฟัง แล้วปฏิบัติตามถือเป็นมารยาทที่สำคัญไม่แพ้ข้ออื่น ๆ เลย เพราะทุกสถานที่ย่อมมีกฎระเบียบกำหนดไว้ ยกตัวอย่างเช่นในห้องเรียนที่มีกฎว่าเวลาเรียนห้ามส่งเสียงดัง ห้ามพูดคุยกันในระหว่างที่ครูสอน หรือห้องประชุมที่มักจะห้ามคุยโทรศัพท์ หรือเปิดเสียงโทรศัพท์ระหว่างการประชุม ซึ่งเราก็ควรจะปฏิบัติตามกฎของสถานที่นั้น ๆ อย่างเคร่งครัดด้วย
6. ฟังด้วยความไม่มีอคติ
ข้อสุดท้ายคือการฟังโดยที่ตัวเราต้องลบความรู้สึกไม่ชอบ ไม่พอใจ หรือไม่เห็นด้วยออกไปให้หมดก่อน เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นอคติที่จะทำให้เราปิดกั้นตัวเองจากการรับฟังสิ่งที่ผู้พูดกำลังสื่อสารกับเรา เช่น ถ้าเราไม่ชอบผู้พูดเป็นการส่วนตัว หรือเราไม่ชอบเนื้อหา มุมมองที่ผู้พูดเอาออกมานำเสนอ เราก็จะไม่อยากฟัง หรือไม่ให้ความสนใจกับผู้พูด ซึ่งนั่นถือเป็นมารยาทในการฟังที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นเราควรฟังด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่คิดลบ หรือแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีออกมาเด็ดขาด
สรุป
และทั้งหมดนี้ก็เป็นเนื้อหาสาระที่เราได้นำมาฝากน้อง ๆ ทุกคน บทเรียนเรื่องมารยาทในการฟังที่ดีนั้น
ถึงแม้ว่าจะเป็นเนื้อหาที่ค่อนข้างง่าย แต่ก็มีหลายอย่างที่เรายังต้องเรียนรู้ โดยน้อง ๆ ทุกคนจะได้เรียนเรื่องจุดมุ่งหมายของการฟังที่ลึกขึ้นในระดับมัธยมศึกษา และจะมีเนื้อหาการฟังที่ละเอียดมากขึ้น ดังนั้น การมีรากฐานความรู้ที่ดีในบทเรียนนี้ก็จะช่วยให้เราสามารถนำไปต่อยอดกับการเรียนในระดับที่สูงขึ้นได้ โดยเนื้อหาต่อไปเราจะมาเรียนรู้มารยาทในการฟังที่ดี ถ้าใครที่อยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องมารยาทการฟัง และการพูดที่ดีก็สามารถไปดูคลิปวีดีโอจากครูอุ้มด้านล่างนี้ได้เลย