ในเมื่อมีการเขียนรายงานแล้วทำไมถึงยังต้องมีการเขียนโครงงาน? น้อง ๆ เคยสงสัยไหมคะว่า การเขียนโครงงาน นั้นไม่เหมือนกับรายงานทั่วไปอย่างไร มีองค์ประกอบและขั้นตอนการเขียนอย่างไร ถ้าอยากรู้แล้วเราไปเรียนรู้เรื่องนี้พร้อมกันเลยนะคะ
โครงงานคืออะไร
โครงงานเป็นกิจกรรมที่เน้นกระบวนการโดยผู้เรียนจะเป็นผู้คิดค้น วางแผน ลงมือปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ อาศัยเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ในการปฏิบัติ เพื่อให้โครงงานสำเร็จภายใต้คำแนะนำ การกระตุ้นความคิด กระตุ้นการทำงานของครูผู้สอนหรือผู้เชี่ยวชาญ ตั้งแต่คิดสร้างโครงงาน ลงมือปฏิบัติ ไปจนถึงประเมินผล
ความสำคัญของโครงงาน
1. เป็นเรื่องที่นักเรียนสนใจ สงสัย ต้องการหาคำตอบ
2. เป็นการเรียนรู้ที่มีกระบวนการ มีระบบ ครบกระบวนการ
3. เป็นการบูรณาการการเรียนรู้
4. นักเรียนใช้ความสามารถหลายด้าน
5. มีความสอดคล้องกับชีวิตจริง
6. มีการศึกษาอย่างลุ่มลึกโดยวิธีและแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย
7. เป็นการแสวงหาความรู้และสรุปความรู้ด้วยตนเอง
8.มีการนำเสนอโครงงานโดยวิธีการที่เหมาะสม ในด้านกระบวนการและผลงานที่ค้นพบ
9.ข้อค้นพบ สิ่งที่ค้นพบ สามารถนำไปใช้ในชีวิต
การเขียนโครงงาน
เป็นรูปแบบของนำเสนอโครงงานที่ผู้เรียนได้ศึกษาตั้งแต่ต้นจนจบ โดยโครงงานภาษาไทย มี 3 ระยะ ได้แก่ การออกแบบ เขียนเค้าโครง, การลงมือปฏิบัติตามขั้นตอน และ การรายงานผลการปฏิบัติ
องค์ประกอบ การเขียนโครงงาน
1. ส่วนต้น
-ชื่อโครงงาน ชื่อเรื่องต้องดึงดูดผู้อ่าน ไม่สั้นและไม่ยาวจนเกินไป
-ชื่อผู้ทำโครงงาน จะช่วยทำให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมโครงงานรู้ว่าใครเป็นคนจัดทำและรับผิดชอบ
-ชื่ออาจารย์ที่ปรึกษา การเขียนชื่ออาจารย์ที่ปรึกษาเป็นการให้เกียรติและเป็นการขอบคุณที่ท่านให้ความรู้และคำแนะนำตลอดการศึกษา
-คำนำ เกริ่นนำถึงเหตุผลที่ทำให้เริ่มทำโครงงานเรื่องนี้
-สารบัญ
-สารบัญตารางหรือภาพประกอบ
-บทคัดย่อสั้น ๆ บอกเค้าโครงของโครงงานอย่างย่อ ๆ
-กิตติกรรมประกาศ เพื่อแสดงความขอบคุณต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่มีส่วนช่วยให้โครงงานสำเร็จ
2.ส่วนเนื้อเรื่อง
-บทนำ บอกความเป็นมา ความสำคัญของโครงงาน
-วัตถุประสงค์
-สมมติฐานของการศึกษาค้นคว้า
-การดำเนินงาน
-สรุปผลการศึกษา อธิบายผลที่ได้ศึกษาค้นคว้าว่าเป็นไปตามที่ตั้งสมมติฐานหรือไม่
-อภิปรายผล บอกประโยชน์หรือคุณค่าของผลที่ได้
3.ส่วนท้าย
-บรรณานุกรม
-ภาคผนวก เช่นโครงร่างโครงงาน หรือภาพกิจกรรม
ขั้นตอนการเขียนโครงงาน
การคิดและการเลือกหัวเรื่อง
การคิดหัวข้อเลือกถือเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญ โดยให้นำเรื่องที่เราสนใจจะศึกษานำมากำหนดหัวข้อหัวข้อเรื่องโครงงานจากปัญหา คำถาม หรือความสนใจในเรื่องต่าง ๆ ของผู้เรียน ซึ่งอาจจะมาการได้ไปชมนิทรรศการ หรือสังเกตจากสิ่งรอบตัว แต่ต้องเป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงว่าโครงการนี้ทำอะไรและควรเน้นในเรื่องใกล้ตัวหรือคุ้นเคย เพราะถ้าเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นเคยและไกลตัวมาก ๆ อาจจะทำให้การทำโครงงานนี้ไม่ประสบความสำเร็จ
การศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง
การศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องนี้จะรวมไปถึงการขอคำปรึกษาจากที่ปรึกษาโครงงานด้วย การดำเนินงานในขั้นตอนนี้จะทำให้น้อง ๆ ได้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงงานที่ต้องการจะศึกษามากขึ้น และจะช่วยกำหนดขอบเขตของโครงงานให้ชัดเจน ว่าจะทำอะไร ทำอย่างไร ต้องใช้อะไร เป็นต้น
การเขียนเค้าโครงของโครงงาน
การเขียนเค้าโครงเป็นการนำความคิดที่ได้วิเคราะห์ไว้มาเขียนให้เป็นภาพเพื่อแสดงแนวคิด แผน และขั้นตอนของการทำโครงงาน
1. ชื่อโครงงาน
2. แนวคิด/ ที่มา/ ความสำคัญ
3. วัตถุประสงค์ของการศึกษาค้นคว้า
4. สมมติฐานของการศึกษาค้นคว้า
5. ขั้นตอนการดำเนินงาน
6. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
7. รายชื่อผู้รับผิดชอบโครงงาน
เป็นอย่างไรบ้างคะน้อง ๆ หลังจากที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนโครงงานไปแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีหลายขั้นตอนและต้องอาศัยความรอบคอบอย่างมากแต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถของน้อง ๆ ทุกคนแน่นอนค่ะ เพราะเรื่องที่เรามักหยิบมาทำโครงงาน ก็ล้วนแล้วแต่จะเป็นเรื่องราวใกล้ตัวที่เราสนใจทั้งนั้น การได้หาคำตอบในสิ่งที่ตัวเองสงสัยและอยากรู้นั้นเยี่ยมไปเลยใช่ไหมล่ะคะ สุดท้ายนี้น้อง ๆ สามารถตามไปชมคลิปการสอนของครูเพื่อฟังคำอธิบายเกี่ยวกับโครงงานภาษาไทยว่าในสามระยะมีอะไรบ้างพร้อมกับดูตัวอย่างที่ครูอุ้มได้ยกมาและเรียนรู้ไปด้วยกันเลยค่ะ
อย่าพลาดการติดตามบทความภาษาไทยจาก nockacademy