ไตรภูมิพระร่วง เป็นวรรณคดีเก่าแก่ที่แต่งขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัย น้อง ๆ สงสัยไหมคะว่าทำไมวรรณคดีที่เก่าแก่ขนาดนี้ถึงยังมีให้เห็น ให้เราได้เรียนกันมาจนถึงปัจจุบัน บทเรียนในวันนี้จะพาน้อง ๆ ทุกคนไปไขข้องใจทั้งประวัติความเป็นมา ลักษณะคำประพันธ์ รวมไปถึงเรื่องย่อในตอน มนุสสภูมิ กันด้วย ถ้าพร้อมแล้วเราไปเรียนรู้เรื่องนี้พร้อมกันเลยค่ะ
ความเป็นมาของเรื่อง
ไตรภูมิพระร่วง เดิมเรียกว่า เตภูมิกถา หรือ ไตรภูมิกถา แต่สมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเปลี่ยนชื่อให้เพื่อเป็นเกียรติแก่พญาลิไท กษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วงผู้พระราชนิพนธ์เรื่องนี้เมื่อปี พ.ศ. 1888 มีจุดมุ่งหมายเพื่อเทศนาโปรดพระมารดาและเพื่อสั่งสอนประชาชน ต้นฉบับสูญหายไประยะหนึ่ง ต่อมาได้พบไตรภูมิพระร่วงเป็นหนังสือ 10 ผูกซึ่งคัดลอกไว้โดย พระมหาช่วย วัดปากน้ำ (วัดกลาง จังหวัดสมุทรปราการ) เมื่อสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เดือน 4 ปีจอ จุลศักราช 1140 (พ.ศ. 2321) และได้มีการตีพิมพ์ขึ้นมาเป็นครั้งแรกงานพระเมรุศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประสานศรีใส และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประไพศรีสอาด
ลักษณะคำประพันธ์
ลักษณะการแต่งเป็นร้อยแก้ว แบบพรรณนาโวหาร บรรยายโวหาร และเทศนาโวหาร
ความหมายของไตรภูมิพระร่วง
ไตรภูมิ หมายถึง แดนที่กำเนิดของสัตว์ 3 จำพวกหรือชั้นที่เป็นอยู่ของสัตว์ 3 จำพวก คือ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ
กามภูมิ (หรือกามโลก) แบ่งเป็น 11 ส่วนย่อยได้แก่
ทุคติภูมิ
- นรกภูมิ
- เปรตภูมิ
- อสูรกายภูมิ
- เดรัจฉานภูมิ
สุคติภูมิ
- มนุสสภูมิ
- จาตุมหาราชิกา
- ดาวดึงส์
- ยามา
- ดุสิต
- นิมมานรดี
- ปรนิมมิตวสวัตดี
รูปภูมิ แบ่งเป็น 16 ชั้น เป็นที่สถิตของพระพรหม (ตามคติของพราหมณ์)
- พรหมปกติ 11
- พรหมชั้นสูง 5 (ปัญจสุทธาส)
พระพรหมที่จะสถิตอยู่จะต้องบำเพ็ญฌาน แบ่งออกเป็น ปฐมฌานภูมิ 3 ทุติยฌานภูมิ 3 ตติยฌานภูมิ 3 และจตุตฌานภูมิ 7
อรูปภูมิ (หรืออรูปโลก) แบ่งเป็น 4 ชั้น เป็นที่สถิตของพระพรหมระดับสูงซึ่งไม่มีรูปกาย
- ชั้นที่ 1 อากาสานัญจายตนภูมิ
- ชั้นที่ 2 วิญญาณัญจายตนภูมิ
- ชั้นที่ 3 อากิญจัญญายตนภูมิ
- ชั้นที่ 4 เป็นภูมิชั้นสูงสุดในไตรภูมิ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ
เนื้อหาของไตรภูมิพระร่วง ตอน มนุสสภูมิ
มนุสสภูมิเป็นภูมิหนึ่งในกามภูมิ กล่าวถึงการกำเนิดมนุษย์ โดยอธิบายว่าเมื่อแรกปฏิสนธินั้นมนุษย์ที่อยู่ในครรภ์มารดาจะมีขนาดเท่ากลละ หรือเซลล์ที่มีขนาดเล็กที่สุด พอครบ 7 วันจะมีลักษณะเหมือนน้ำล้างเนื้อ เรียกว่า “อัมพุทะ” อีก 7 วันถัดมาจะเป็นชิ้นเนื้อในครรภ์มารดา หรือเรียกว่า “เปสิ” ซึ่งมีลักษณะข้นเหมือนตะกั่วเชื่อมในหม้อหลังจากนั้นในอีก 7 วัน ทารกจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นก้อนดังไข่ไก่เรียกว่า “ฆนะ” จากนั้นจะเกิด “เบญจสาขาหูด” คือ มีมือ 2 อัน เท้า 2 อัน และหัวอีก 1 หัว พัฒนาต่อเรื่อย ๆ จนครบจำนวนครบ 32 ทารกจะนั่งยอง ๆ กำมือทั้งสอง คู้ตัวหัวเข่าอยู่ในครรภ์มารดา ประมาณ 7-11 เดือน จึงจะคลอดออกมา
สภาพตอนอยู่ในครรภ์มารดา
เด็กที่อยู่ในท้องนั้นต้องได้รับความลำบากอย่างมาก ต้องทนอยู่ในที่ที่ทั้งชื้นและเหม็นพยาธิซึ่งอาศัยปนอยู่ในครรภ์คอยชอนไช
การคลอด
กุมารที่มีอายุ 6 เดือน อาจไม่รอด หากอายุครรภ์ 7 เดือน กุมารมักจะมีสุขภาพอ่อนแอ เด็กมาจากนรกเมื่อคลอดออกมาจะส่งเสียงร้องไห้ ส่วนเด็กที่มาจากสวรรค์ เมื่อคลอดออกมาจะหัวเราะ เด็กที่เพิ่งคลอดจะไม่สามารถจำสิ่งจดจำสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านมาได้ ยกเว้นผู้ที่เป็นปัจเจกพุทธเจ้าและผู้ที่เป็นอรหันตาขีณาสพ
ไตรภูมิพระร่วงเป็นวรรณคดีพุทธศาสนาที่แต่งในสมัยสุโขทัย แต่เนื้อหาถือว่าก้าวล้ำเกินวิทยาการในยุคนั้นไปมาก อย่างเช่นการอธิบายถึงการเกิดมนุษย์ในตอนที่ถูกยกมาเป็นแบบเรียนภาษาไทย ทำให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างความเชื่อของศาสนากับวิทยาศาสตร์ ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่น่าสนใจและน่าศึกษามาก ๆ เลยค่ะ สำหรับบทเรียนเรื่องไตรภูมิพระร่วงนี้ยังไม่จบนะคะ เพราะเราจะต้องไปศึกษาตัวบทเด่นเพื่อถอดความและคุณค่าที่อยู่ในเรื่องกันต่ออีก แต่ก่อนจะไปศึกษาบทเรียนถัดไป น้อง ๆ อย่าลืมทำแบบฝึกหัดทบทวนและชมคลิปการสอนของครูอุ้มย้อนหลังกันด้วยนะคะ
อย่าพลาดการติดตามบทความภาษาไทยจาก nockacademy