ในบทเรียนก่อนหน้า น้อง ๆ ได้เรียนรู้เรื่องโคลงโสฬสไตรยางค์กับโคลงนฤทุมนาการกันไปแล้ว แต่โคลงสุภาษิตที่น้อง ๆ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จะได้เรียนไม่ได้หมดแค่นั้นนะคะ เพราะยังมีอีกหนึ่งโคลงสุภาษิตที่สำคัญไม่แพ้กันเลยคือ โคลงอิศปปกรณำ นั่นเองค่ะ โคลงสุภาษิตที่ชื่อดูอ่านยากเรื่องนี้จะมีที่มาอย่างไร สอนเรื่องอะไรเราบ้าง มีเนื้อหาอย่างไร ให้ข้อคิดแบบไหน ไปเรียนรู้พร้อมกันเลยค่ะ
ความหมายของ โคลงอิศปปกรณำ
โคลงอิศปปกรณำ อ่านว่า โคลง-อิด-สะ-ปะ-ปะ-กะ-ระ-นำ มาจากคำศัพท์ต่าง ๆ ดังนี้
โคลง หมายถึง โคลงสี่สุภาพ
อิศป หมายถึง อีสป
ปกรณำ หมายถึง หนังสือ, เรื่อง
เมื่อนำมารวมกันแล้วจึงหมายถึงโคลงสี่สุภาพที่มีเรื่องราวเหมือนนิทานอีสป
ความเป็นมาและความสำคัญของโคลงอิศปปกรณำ
โคลงอิศปปกรณำเป็นบทประพันธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นโคลงสุภาษิตเช่นเดียวกับโคลงโสฬสไตรยางค์และโคลงนฤทุมนการ แต่จะแตกต่างจากทั้งสองโคลงก่อนหน้าคือเป็นบทประพันธ์ที่ถูกแปลมาจากนิทานตะวันตก เป็นนิทานที่แต่งโดย อีสป นักเล่านิทานชาวกรีกที่มีร่างกายพิการแต่มีสติปัญญาที่เฉลียวฉลาด มักจะแต่งนิทานขึ้นเพื่อเป็นข้อคิดหรือคติเตือนใจ นิทานอีสปจึงเป็นนิทานที่ไม่เด่นชัดว่าเป็นของวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง สามารถอ่านได้ทั่วไปไม่ว่าจะเป็นคนประเทศไหนเพราะมีคติสอนใจในการดำเนินชีวิตเป็นหลักสำคัญ รัชกาลที่ 5 จึงทรงแปลนิทานอีสป และทรงพระราชนิพนธ์โคลงสุภาษิตประกอบนิทานรวมกับกวีอีกสามคนคือ กรมหลวงพิชิตปรีชากร พระศรีสุนทรโวหาร และ พระยาราชสัมภารากร ออกมาเป็นโคลงอิศปปกรณำในปีพ.ศ. 2447
จุดมุ่งหมายในการแต่ง
เพื่อเป็นคติสอนใจแก่ผู้อ่านให้เลือกปฏิบัติตามคำสอนจากนิทานในแต่ละเรื่อง
ลักษณะคำประพันธ์
เป็นบทร้อยแก้ว สรุปด้วยโคลงสี่สุภาพเป็นสุภาษิต
นิทานในโคลงอิศปปกรณำ
นิทานในโคลงอิศปปกรณำมีด้วยกันมากมายหลายเรื่อง วันนี้เราจะมาศึกษาหนึ่งในนิทานที่ได้รับการแปล และเป็นที่รู้จักมากที่สุดอย่างเรื่อง ราชสีห์กับหนูกันค่ะ
เนื้อเรื่อง
ขณะที่สิงโตกำลังนอนหลับอยู่ในป่า จู่ ๆ ก็มีหนูตัวหนึ่งวิ่งขึ้นไปบนหน้ารบกวนการนอน ราชสีห์ก็ตกใจตื่นด้วยความโมโห จับตัวหนูไว้หมายจะฆ่าให้ตาย หนูตัวนั้นจึงรีบอ้อนวอนต่อราชสีห์ให้ไว้ชีวิต และสัญญาว่าหากราชสีห์ยอมปล่อยไป จะตอบแทนบุญคุณอย่างแน่นอน เมื่อราชสีห์ได้ยินดังนั้นก็นึกขำเพราะไม่คิดว่าหนูตัวเล็กเช่นนี้จะทดแทนบุญคุณอะไรได้ แต่ก็ยอมปล่อยไปเพราะเห็นว่าหนูตัวนี้ทำให้อารมณ์ดีได้ กระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่ราชสีห์กำลังหาอาหารอยู่ในป่าก็ดันพลาดท่าไปติดกับดักของนายพรานเข้า ราชสีห์รู้สึกสิ้นหวัง เพราะไม่ว่าจะดิ้นอย่างไรก็ไม่สามารถหลุดออกไปได้ แต่เสียงของราชสีห์กลับลอยไปเข้าหูเจ้าหนูที่เคยไว้ชีวิตในครั้งนั้น มันจึงออกมาตามหาจนเจอ และกัดบ่วงกับดักทีละเส้นจนราชสีห์ออกมาได้ ราชสีห์รู้สึกผิดที่เคยสบประมาทความตัวเล็กของหนู แต่หนูกลับไม่ได้ถือโทษเพราะต้องการตอบแทนบุญคุณของราชสีห์ เมื่อเข้าใจกันแล้ว ราชสีห์กับหนูก็กลายเป็นเพื่อนที่คอยช่วยเหลือกันอยู่ในป่าร่วมกับสัตว์ตัวอื่นเรื่อยไป
โคลงสุภาษิตประกอบนิทาน
อย่าควรประมาทผู้ ทุรพล
สบเคราะห์คราวขัดสน สุดรู้
เกลือกเขาสบร้ายดล ใดเหตุ มีแฉ
มากพวกคงมีผู้ ระลึกเค้าคุณสนอง
ความหมาย อย่าดูถูกผู้มีกำลังน้อย เผื่อว่าเราเจอเหตุร้าย เราอาจต้องขอความช่วยเหลือจากคนตัวเล็กเหล่านั้น ดังนั้นจึงควรคบคนไว้เยอะ ๆ เพราะการมีพวกมาก ก็จะทำให้มีคนคอยช่วยเหลือและตอบแทนเราในตอนที่ลำบากได้
คำศัพท์น่ารู้
ทุรพล หมายถึง ผู้มีกำลังน้อย
สบ หมายถึง พบ
เกลือก หมายถึง เผื่อ
คุณค่าที่ได้จากเรื่อง
ด้วยความที่บทประพันธ์ถูกแปลมาจากนิทานอีสปซึ่งเป็นนิทานที่มีคติสอนใจ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้ เนื้อหาของนิทานแต่ละเรื่องสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิด การแก้ปัญหาอันชาญฉลาดผ่านตัวละครในนิทานควบคู่ไปด้วยวรรณศิลป์ การใช้ภาษาอย่างมีชั้นเชิง
จบไปแล้วนะคะสำหรับเรื่องโคลงสุภาษิตที่น้อง ๆ ต้องเรียนกันทั้ง 3 เรื่อง โคลงอิศปปกรณำที่เป็นเรื่องสุดท้ายนี้ มีที่มาจากนิทาน ทำให้มีทั้งบทร้อยแก้วและโคลงประกอบแต่ละเรื่อง เนื้อหาไม่ยาก คำศัพท์ง่าย อ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ทันที แถมนิทานที่แปลมาก็ยังสนุกอีกด้วย เรียกว่าได้ทั้งความรู้และความสนุกเลยนะคะ น้อง ๆ ที่เรียนบทนี้จบแล้ว อย่าลืมนำข้อคิดที่ได้จากนิทานไปใช้ในชีวิตกันด้วยนะคะ สุดท้ายนี้ระหว่างทบทวนบทเรียน อย่าลืมไปรับชมและรับฟังคลิปการสอนของครูอุ้มเพื่อทำความเข้าใจเนื้อหามากขึ้น ครูอุ้มได้เล่านิทานเรื่องราชสีห์กับหนูเอาไว้อย่างสนุกสนาน น้อง ๆ ฟังแล้วสามารถจำได้โดยไม่ต้องท่องจำเลยละค่ะ ไปดูกันเลย
อย่าพลาดการติดตามบทความวิชาภาษาไทยใน nockacademy