โคลงภาพพระราชพงศาวดาร
โคลงภาพพระราชพงศาวดาร เป็นวรรณคดีที่มีเนื้อหาเกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์ จากบทเรียนครั้งก่อนที่เราได้ศึกษาที่มาและเนื้อเรื่องอย่างคร่าว ๆ กันไปแล้ว บทเรียนภาษาไทยในวันนี้จะพาน้อง ๆ ย้อนอดีตกลับไปอีกครั้งเพื่อศึกษาคุณค่าด้านต่าง ๆ
ในโคลงภาพพระราชพงศาวดาร ไปเรียนรู้คุณค่าของวรรณคดีเรื่องนี้พร้อม ๆ กันเลยค่ะ
โคลงภาพพระราชพงศาวดาร ตอน พระสุริโยทัยขาดคอช้าง
คุณค่าด้านเนื้อหา
เนื้อหาในตอนพระสุริโยทัยขาดคอช้าง กล่าวถึงตอนที่พระสุริโยทัยแต่งตัวเป็นชายแล้วออกไปรบกับกองทัพของพระเจ้าบุเรนอง และตัดสินใจเข้าไปช่วยพระมหาจักรพรรดิหรือพระสวามีในตอนที่กำลังเสียทีให้กับพระเจ้าแปรจนสิ้นพระชนม์คาคอช้าง
จะเห็นได้ว่าพระสุริโยทัยเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้หญิง แต่ก็ไม่หวั่นเกรงให้กับศัตรู ยอมเสียสละตัวเองเพื่อช่วยสามีและประเทศชาติ ดังในบทประพันธ์ที่กล่าวว่าพระสุริโยทัยทรงมี มนัสกัตเวที ยิ่งล้ำ ซึ่งมนัสกัตเวที หมายถึง มีความกตัญญูเป็นเลิศ
คุณค่าด้านสังคม
การแย่งชิงอาณานิคม พระสุริโยทัย เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยแผ่นดินของพระจักรพรรดิ หรือ พระเทียรราชา รัชกาลนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ทำให้สภาพบ้านเมืองไม่ได้สงบสุขเท่าที่ควร มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นภายใน ทำให้ทางกรุงหงสาวดีมองเห็นจุดอ่อน ยกกองทัพมาหมายจะตีกรุงศรีอยุธยาแล้วยึดเป็นเมืองขึ้น
อาวุธ ในการทำศึกสงครามสมัยอยุธยา อาวุธที่ใช้ในการสู้รบนอกจากดาบแล้วก็คือ ง้าว ดัดแปลงมาจากอาวุธจีนโบราณ มีลักษณะเป็นอาวุธด้ามยาว คล้ายกับ “ทวน” และ “หอก” ใช้สำหรับต่อสู้บนหลังช้าง
พาหนะในการทำศึก สำหรับผู้ที่มียศใหญ่ ๆ ตั้งแต่แม่ทัพขึ้นไป จะใช้ช้างเป็นพาหนะในการทำสงคราม จะเห็นได้ว่าในอดีต ช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองที่มีความสำคัญมาก
เกร็ดน่ารู้
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิมีช้างเผือกในครอบครองถึง 7 เชือก จึงมีพระสมัญญาว่า พระเจ้าช้างเผือก
คุณค่าด้านวรรณศิลป์
ใช้คำที่แสดงนาฏการ
นาฏการ เป็นการแสดงความเคลื่อนไหว ในตอนพระสุริโยทัยขาดคอช้าง พบการเคลื่อนไหวในบทประพันธ์ดังตัวอย่าง
ใช้การหลากคำ
การหลากคำ หมายถึง การที่ใช้คำที่มีความหมายเหมือนกัน พบการใช้การหลากคำในบทประพันธ์ โดยคำที่ถูกนำมาใช้ คือคำว่าช้าง ดังตัวอย่าง
ใช้คำเลียนเสียง (สัทพจน์)
พบการใช้คำเลียนเสียงในบทประพันธ์ เป็นการเลียนเสียงอาวุธขณะฟาดฟัน ดังตัวอย่าง
โคลงพระราชพงศาวดาร ตอน พันท้ายนรสิงห์ถวายชีวิต
คุณค่าด้านเนื้อหา
พันท้ายนรสิงห์ถวายชีวิต เกิดขึ้นในสมัยแผ่นดินพระเจ้าเสือ มีเนื้อหาเกี่ยวกับวีรกรรมของพันท้ายนรสิงห์ที่เป็นทหารที่ซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบ มีความจงรักภักดีและกตัญญูต่อพระเจ้าแผ่นดิน ยอมสละชีวิตของตนเองเพื่อรักษาเกียรติของพระเจ้าเสือไม่ให้ทำผิดกฎมณเฑียรบาลที่มีความศักดิ์สิทธิ์อย่างมากสำหรับคนไทย
คุณค่าด้านสังคม
การสัญจร จากตอนพันท้ายนรสิงห์ถวายชีวิต จะเห็นได้ว่าเรือเป็นพาหนะสัญจรที่มีความสำคัญมากในยุคสมัยนั้น สามารถทำให้การเดินทางเป็นไปได้อย่างสะดวกสบาย เพราะมีการขุดคลองไว้สำหรับการเดินทางมากมาย ในตอนพันท้ายนรสิงห์นี้ พูดถึงคลองโคกขามในเมืองสาครบุรีที่ปัจจุบันคือจังหวัดสมุทรสาคร ว่าเป็นคลองที่ความคดเคี้ยว จนเป็นเหตุให้พันท้ายนรสิงห์คัดท้ายเรือชนต้นไม้จนโขนเรือหัก จนภายหลังมีการขุดคลองใหม่เพื่อให้การสัญจรทางเรือสะดวกขึ้น จะได้ไม่เกิดอุบัติเหตุอีก
ความเชื่อเรื่องการสร้างศาล ทันทีที่ประหารชีวิตพันท้ายนรสิงห์ พระเจ้าเสือก็มีรับสั่งให้นำศีรษะกับโขนเรือที่หักไปแล้วไปเป็นเครื่องเซ่นศาลเพียงตา ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีความเชื่อว่าเป็นการให้เกียรติพันท้ายนรสิงห์
ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ในอดีตกฎมณเฑียรบาลเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามไม่เว้นแม้แต่กษัตริย์ พันท้ายนรสิงห์ยอมถวายชีวิต ยืนยันให้พระเจ้าเสือสั่งประหารชีวิตตนเองเพื่อรักษาเกียรติของพระเจ้าเสือและธำรงความศักดิ์สิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ไว้ พระเจ้าเสือจึงต้องจำใจสั่งประหารพันท้ายนรสิงห์เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายให้คงสืบไป
คุณค่าด้านวรรณศิลป์
การใช้คำกระชับ
มีการตัดคำให้กระชับแต่ยังคงความสละสลวยของภาษาในประบทประพันธ์ไว้
การใช้สัมผัสอักษร
การใช้สัมผัสอักษร พบในบทประพันธ์ดังนี้
คำศัพท์ที่น่าสนใจในโคลงภาพพระราชพงศาวดาร
โขนเรือ หมายถึง ไม้ที่ต่อเสริมหัวเรือหรือท้ายเรือให้เชิดขึ้นไป
คชาธาร หมายถึง ช้างทรง ช้างพระที่นั่ง
สาร หมายถึง ช้างใหญ่
ไคล หมายถึง เดินไป เคลื่อนไป
เตลง หมายถึง เป็นชื่อใช้เรียกชนชาติมอญ
เอกไชย หมายถึง ชื่อเรือพระที่นั่งของสมเด็จพระเจ้าเสือ
สรุปความรู้จากเรื่องโคลงภาพพระราชพงศาวดาร
โคลงภาพพระราชพงศาวดารตอน พระสุริโยทัยขาดคอช้างกับพันท้ายนรสิงห์ถวายชีวิต เป็นบทประพันธ์ที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางด้านวรรณศิลป์ ศิลปะ และประวัติศาสตร์ นอกจากนี้แสดงให้เห็นถึงคุณธรรมที่ควรยกย่องในหลาย ๆ เรื่อง เช่น ความกตัญญู ความจงรักภักดี ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ความกล้าหาญ ความเสียสละ ของบรรพบุรุษไทยที่มีต่อชาติบ้านเมือง สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
จบไปแล้วนะคะสำหรับบทเรียนเรื่องคุณค่าและสรุปความรู้ในวรรณคดีเรื่องโคลงภาพพระราชพงศาวดาร พอได้รู้คุณค่าในด้านต่าง ๆ แล้ว ไม่แปลกใช่ไหมคะที่วรรณคดีอันทรงคุณค่าอย่างโคลงภาพพระราชพงศาวดารถูกบรรจุเป็นแบบเรียนภาษาไทย แม้จะถูกนำมาศึกษาแค่ 2 เรื่อง แต่ก็อัดแน่นไปด้วยคุณค่าอย่างครบถ้วน สุดท้ายนี้สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่อยากฟังคำอธิบายเพิ่มเติมเพื่อเป็นการทบทวนแล้วล่ะก็ สามารถตามไปฟังคลิปการสอนของครูอุ้มได้เลยค่ะ ในคลิปครูอุ้มจะอธิบายเนื้อหาให้สรุปความรู้ให้น้อง ๆ เข้าใจอย่างง่าย รับรองว่าดูแล้วไม่พลาดในการทำข้อสอบแน่นอน ไปดูกันเลยค่ะ