บทละครพูด เห็นแก่ลูก เป็นวรรณคดีเรื่องแรกที่น้อง ๆ ม.3 ทุกคนจะได้เรียน ความพิเศษของวรรณคดีไทยเรื่องนี้คือเป็นบทละครพูดเรื่องแรกของไทยอีกทั้งยังได้รับการแปลไปยันต่างประเทศอีก 13 ภาษา วรรณคดีเรื่องนี้มีความสำคัญและมีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร ถึงโด่งดัง เป็นที่รู้จัก และได้มาอยู่ในแบบเรียนภาษาไทย ถ้าพร้อมแล้วเราไปศึกษาประวัติความเป็นมาของวรรณคดีเรื่องนี้กันเลยค่ะ
ความเป็นมา บทละครพูด เห็นแก่ลูก
บทละครพูด เห็นแก่ลูก เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระนามแฝงว่าพระขรรค์เพชร บทละครพูดที่มาจากตะวันตกแต่เป็นผลงานพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ไม่ใช่การแปล มีที่มาจากที่พระองค์ทรงชอบบทละครพูด และตั้งคณะละครขึ้นเพื่อช่วยอบรมจิตใจของประชาชน วรรณคดีเรื่องนี้เป็นบทละครพูดขนาดสั้น ปมเรื่องไม่ซับซ้อน แฝงด้วยข้อคิด
ลักษณะคำประพันธ์
บทละครพูด เห็นแก่ลูก เป็นบทละครพูดขนาดสั้นเพียงองก์เดียวและเป็นร้อยแก้ว ละครพูดเริ่มต้นขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นที่นิยมมากขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นลักษณะคำประพันธ์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตก
บทละครพูด เป็นละครที่แสดงโดยให้ตัวละครสนทนาโต้ตอบกันเหมือนในชีวิตจริง ไม่มีดนตรี การรำ หรือการขับร้อง ตรงกับการแสดงที่เรียกว่า play ของตะวันตก ผู้แต่งจะเป็นผู้กำหนดชื่อเรื่อง ตัวละคร และฉากว่ามีลักษณะอย่างไร มีการกำหนดลำดับการแสดงของตัวละครพร้อมกับบทพูดและอารมณ์กิริยาของตัวละครเพื่อให้นักแสดงสามารถถ่ายทอดบทบาทตามที่ผู้แต่งต้องการได้
เนื้อเรื่องย่อ
พระยาภักดีนฤนาถและนายล้ำ เคยเป็นอดีตเพื่อนรักกัน รับราชการรุ่นเดียวกัน แต่หลงรักผู้หญิงคนเดียวกันคือแม่นวล ซึ่งเป็นมารดาของแม่ลออ แม่นวลได้นำลูกสาวมาฝากไว้ที่พระยาภักดีนฤนาถให้เลี้ยงดู ก่อนที่จะสิ้นใจ ซึ่งพระยาภักดีนฤนาถก็เลี้ยงดูเหมือนเป็นลูกแท้ ๆ และคอยอบรมสั่งสอนให้แม่ลออรักบิดาแท้ ๆ แต่บอกว่าบิดาเสียชีวิตไปแล้ว ด้านบิดาที่แท้จริงอย่างนายล้ำ เป็นคนติดเหล้าจัดและเคยต้องโทษจำคุก เมื่อพ้นโทษและได้ข่าวว่าลูกสาวของตนที่อยู่กับพระยาภักดีนฤนาถกำลังจะแต่งคนฐานะดีจึงมาแสดงตัวว่าเป็นบิดา หวังอาศัยผลประโยชน์ แม้พระยาภักดีนฤนาถจะให้เงิน นายล้ำก็ยังยืนยันที่จะพบลูกสาว กระทั่งได้พบกับแม่ลออจริง ๆ แต่แม่ลออกลับไม่รู้ว่านายล้ำเป็นบิดาที่แท้จริง เมื่อได้ฟังลูกสาวพูดถึงตัวเองในแง่ดีอย่างภาคภูมิใจโดยที่ไม่รู้เรื่อง นายล้ำเกิดความละอายแก่ใจ จึงไม่บอกความจริงเพื่อปล่อยให้แม่ลออได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขต่อไป ก่อนจากไป นายล้ำได้ฝากแหวนไว้วงหนึ่งให้พระยาภักดีนฤนาถมอบให้แก่แม่ลออ เป็นของรับไหว้ในวันแต่งงาน
สรุปเนื้อเรื่อง
เป็นอย่างไรบ้างคะหลังจากที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับวรรณคดีเรื่องนี้ไปแล้ว บทละครพูดเป็นลักษณะคำประพันธ์ที่แพร่หลายในไทยช่วงรัชกาลที่ 5 และเป็นที่นิยมในรัชกาลที่ 6 ถึงแม้จะไม่ได้มีทั้งตั้งแต่โบราณ และก็มีคุณค่าและมีการใช้ภาษาที่ดี มีความเป็นธรรม มีความเพลิดเพลิน และถ้าน้อง ๆ อยากรู้ว่าตัวบทเด่นพร้อมทั้งเจาะลึกคุณค่าที่แฝงอยู่ในเรื่องมีอะไรบ้าง เราจะไปเรียนกันในบทต่อไปนะคะ สำหรับวันนี้ ก่อนจากไปอย่าลืมชมคลิปการสอนของครูอุ้มเพื่อทบทวนความรู้และเข้าใจเนื้อหาให้ได้มากขึ้น ไปชมกันเลยค่ะ
อย่าพลาดการติดตามบทความภาษาไทยจาก nockacademy