คำซ้อน เป็นหนึ่งในบทเรียนหลักภาษาไทยเรื่องการสร้างคำ น้อง ๆ หลายคนอาจจะเคยสับสนกับวิธีสร้างคำซ้อน ไม่รู้ว่าแบบไหนกันแน่ที่เรียกว่าคำซ้อน เพราะภาษาไทยเรานั้นก็มีคำมากมายเหลือเกิน วันนี้เราจะมาเรียนรู้เรื่องคำซ้อนให้มากขึ้น รับรองว่าไม่ยากแน่นอนค่ะ
คำซ้อน
ความหมายของคำซ้อน
คำซ้อน คือ คำที่เกิดจากการนำคำตั้งแต่ 2 คำ ขึ้นไปมาเรียงต่อกัน โดยคำที่นำมาซ้อนกันจะต้องเป็นคำที่มีความหมายเหมือนกัน ใกล้เคียงกัน ตรงข้ามกัน หรืออาจมีเสียงที่คล้ายกัน
ลักษณะความหมายของคำซ้อน
ประเภทของคำซ้อน
คำซ้อนเพื่อความหมาย
เกิดจากการนำคำ 2 คำที่มีความหมายเหมือนกัน ใกล้เคียงกัน หรือตรงข้ามกันมาซ้อนกัน เน้นที่ความหมายของคำ
1. ซ้อนแล้วความหมายเหมือนเดิมหรือชัดเจนมากขึ้น
เช่น จิตใจ รูปร่าง ว่างเปล่า มากมาย สร้างสรรค์ บ้านเมือง
2. ซ้อนแล้วความหมายแคบหรือเฉพาะเจาะจงมากกว่าเดิม
เช่น ขัดถู ใจคอ เชื่อมต่อ กุ้งหอยปูปลา
3. ซ้อนแล้วความหมายกว้างกว่าเดิม
เช่น ถ้วยชาม ข้าวปลา ทุบตี พี่น้อง หลักฐาน
4. ซ้อนแล้วความหมายเปลี่ยนไปจากเดิม
เช่น หนักแน่น อ่อนหวาน เดือดร้อน ตัดสิน
5. ซ้อนแล้วความหมายไม่แน่นอน เป็นคำซ้อนที่เกิดจากนำคำที่ความหมายตรงกันข้ามมาซ้อนกัน
เช่น ชั่วดี ผิดถูก แพ้ชนะ ยากง่าย บุญกรรม
คำซ้อนเพื่อเสียง
เกิดจากการนำคำพยางค์เดียวหรือหลายพยางค์มาซ้อนกัน ความหมายอาจอยู่ที่พยางค์ใดพยางค์หนึ่ง หรือทุกพยางค์รวมกัน เน้นที่เสียงมากกว่าความหมาย ดังนั้นคำที่นำมาซ้อนจะเป็นคำที่ไม่มีความหมายเลยก็ได้ เช่น งุ่มง่าม ลักลั่น เป็นต้น
วิธีสร้างคำซ้อน
วิธีสร้างคำซ้อนเพื่อความหมาย
นำคำที่มีความหมายสมบูรณ์ในภาษามาซ้อนเข้าด้วยกันให้เกิดเป็นความหมาย คำที่นำมาซ้อนกัน สามารถเป็นได้ทั้งคำไทยกับคำไทย คำไทยกับคำต่างประเทศ หรือคำจากต่างประเทศทั้งคู่เลยก็ได้
วิธีสร้างคำซ้อนเพื่อเสียง
1. นำคำที่มีเสียงพยัญชนะต้นกับตัวสะกดเหมือนกัน แต่เสียงสระต่างกันมาซ้อนกัน
เช่น งุ่มง่าม จริงจัง ตูมตาม อุบอิบ
2. นำคำที่มีเสียงพยัญชนะต้นกับเสียงสระเหมือนกัน แต่ตัวสะกดต่างกันมาซ้อนกัน
เช่น ลักลั่น ออดอ้อน รวบรวม
3. นำคำที่มีเสียงพยัญชนะต้นต่างกัน แต่มีเสียงสระกับตัวสะกดเหมือนกันมาซ้อนกัน
เช่น แร้นแค้น ราบคาบ จิ้มลิ้ม ลามปาม
4. นำคำที่มีเสียงพยัญชนะต้นเหมือนกัน แต่เสียงสระกับตัวสะกดต่างกันมาซ้อนกัน
เช่น แข็งขัน ขับขี่ ว่างเว้น เจิดจ้า
5. นำคำที่ไม่มีความหมายมาซ้อนกับคำที่มีความหมาย มักใช้ภาษาพูด
เช่น ตาเตอ ร้อนเริ้น บ้าบอ กินเกิน
6. เพิ่มพยางค์ลงไปในคำซ้อนเพื่อให้คำหน้ากับคำหลังสมดุลกัน
เช่น กะหนุงกะหนิง พะรุงพะรัง อิหลักอิเหลื่อ
7. คำซ้อนที่มีหลายพยางค์ จะต้องมีเสียงสัมผัสภายในคำที่คล้องจองกัน โดยที่คำนั้นจะมีความหมายหรือไม่จำเป็นต้องมีความหมายก็ได้
เช่น อดตาหลับขับตานอน เทือกเถาเหล่ากอ ข้าเก่าเต่าเลี้ยง ขิงก็ราข่าก็แรง
คำซ้อนแตกต่างจากคำประสมอย่างไร
วิธีสังเกตข้อแตกต่างระหว่างคำซ้อนกับคำประสม สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยสังเกตที่ความหมายเป็นหลัก คำซ้อนคือการนำคำสองคำมาซ้อนกันเพื่อนเน้นความหมายให้มากขึ้นหรือน้อยลง แต่คำประสมคือการนำคำสองคำมารวมกันแล้วเกิดเป็นความหมายที่ต่างจากไปจากเดิม โดยที่คำทั้ง 2 นั้น แต่เดิมต้องไม่มีความหมายเหมือนกัน ไม่คล้าย และไม่ตรงข้ามกันด้วย ซึ่งแตกต่างกับคำซ้อน เพราะคำที่นำมาซ้อนจะต้องเป็นคำที่มีความหมายเหมือน คล้าย ตรงข้าม หรือเป็นคำที่ไม่มีความหมายเลยก็ได้
เป็นอย่างไรคะน้อง ๆ หลังจากที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องการสร้างคำเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งเรื่อง ทีนี้น้อง ๆ ก็พอจะเข้าใจในความหมายและหลักการสร้างคำซ้อนแล้วใช่ไหมคะ สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่อยากฟังคำอธิบายเพิ่มเติมก็สามารถดูย้อนหลังได้ที่คลิปการสอนของครูอุ้ม นอกจากจะได้ความรู้แล้วยังได้ความสนุกเพลิดเพลินด้วยนะคะ ตามไปดูกันที่คลิปด้านล่างนี้กันเลย