หลายคนคงจะเคยได้ยินคำว่า มหาชาติชาดก หรือ มหาเวสสันดรชาดก กันมาบ้างแล้วผ่านสื่อต่าง ๆ แต่รู้หรือไม่คะว่าคำ ๆ นี้มีที่จากอะไร คำว่า มหาชาติ เป็นคำเรียก เวสสันดรชาดก ส่วนชาดกนั้นเป็นชื่อคัมภีร์หนึ่งของพุทธศาสนาที่กล่าวถึงอดีตชาติของพระพุทธเจ้า ดังนั้นมหาเวสสันดรชาดก จึงเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับชาติกำเนิดอันหยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า น้อง ๆ คงสงสัยใช่ไหมคะว่าทำไมเวสสันดรชาดกถึงได้ชื่อว่าเป็นชาดกที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ถ้าอยากรู้คำตอบแล้วล่ะก็ เราไปเรียนรู้ความเป็นของเรื่องนี้พร้อมกันเลยค่ะ
มหาเวสสันดรชาดก
มหาชาติชาดก หรือ มหาเวสสันดรชาดก เป็นหนึ่งใน นิบาตชาดก ที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ พระเจ้า 550 ชาติ เป็นเรื่องที่เล่าถึงการเสวยพระชาติในอดีตของพระพุทธเจ้าในแต่ละชาติว่าเกิดเป็นอะไรบ้างและได้ทำคุณงามความดีหรือที่เรียกว่าบำเพ็ญบารมีอะไรในชาตินั้น ๆ มาบ้าง ซึ่งจาก 550 ชาติ มี 10 ชาติ หรือที่เรียกว่า ทศชาติ เป็นการบำเพ็ญบารมีที่โดดเด่นที่สุด
มหาเวสสันดรชาดกในประเทศไทย
มหาชาติชาดกหรือมหาเวสสันดรนั้น มีสันนิษฐานว่าพบหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเล่มแรกที่นำมาแปลเป็นภาษาไทยชื่อ มหาชาติคำหลวง ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ได้โปรดเกล้าฯให้นักปราชญ์เรียบเรียงมหาเวสสันดรชาดกขึ้นใหม่เรียกว่ากาพย์มหาชาติ และยังถูกนำไปแต่งอีกหลายสำนวน หลายภาษาถิ่น กระทั่งในปี พ.ศ. 2453 กรมศึกษาธิการจึงได้รวบรวมนักปราชญ์ให้ช่วยกันคัดเลือกสำนวนที่เด่นที่สุดในแต่ละกัณฑ์จนครบทั้ง 13 กัณฑ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความคลาดเคลื่อนและเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา
ลักษณะเด่นของมหาชาติชาดกในท้องถิ่นต่าง ๆ
มหาชาติทุกภาคมีเนื้อหาเหมือนกัน แต่จะมีความแตกต่างกันเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างในเรื่องของวัฒนธรรมของแต่ละภาคที่ต่างกันอย่างเป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือสภาพภูมิประเทศ เช่น ของภาคอีสาน กวีจะกล่าวถึงอาหารคาวและหวานของภาคตนเองอย่าง ข้าวจี่ เป็นต้น ส่วนภาคใต้ก็จะบรรยายถึงสภาพภูมิประเทศที่ติดกับทะเล และต้นไม้ที่มีแค่ในเฉพาะภาคใต้ นอกจากนี้ วรรณศิลป์และการใช้คำก็ยังแตกต่างกันอีกด้วย เพราะในภาคกลางจะใช้คำยาก ส่วนภาคเหนือและภาคอีสาน รวมถึงภาคใต้ จะใช้คำไม่ยากเท่า แต่ก็ยังมีความงดงามของภาษาที่ไม่ต่างกันมากนัก ส่วนลักษณะคำประพันธ์ ทุกภาคจะเป็นร่ายยาว มีแค่ภาคใต้เท่านั้นที่แต่งเป็นกาพย์และมาลินีฉันท์
ผู้แต่งมหาชาติชาดกฉบับภาคกลาง
สำนักวัดถนน – กัณฑ์ทานกัณฑ์
สำนักวัดสังข์ขจาย – กัณฑ์ชูชก
พระเทพโมลี (กลิ่น) – กัณฑ์มหาพน
เจ้าพระยาคลัง (หน) – กัณฑ์กุมารและกัณฑ์มัทรี
กรมพระปรมานุชิตชิโนรส – กัณฑ์ทศพร กัณฑ์หิมพานต์ กัณฑ์มหาราช กัณฑ์ฉกษัตริย์ และนครกัณฑ์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว – กัณฑ์วนประเวศน์ กัณฑ์จุลพน และกัณฑ์สักรบรรพ
อานิสงส์การฟังเทศน์มหาชาติ
ความเป็นมาในการเล่าเรื่อง มหาเวสสันดรชาดก
เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ พระประยูรญาติ มีพระเจ้าสุทโธนะเป็นประธานเสด็จมาต้อนรับ แต่มีทิฐิมานะแรงกล้าไม่ยอมอ่อนน้อม เพราะเห็นว่ามีอายุน้อยกว่า พระพุทธเจ้าจึงแสดงอภินิหารเสด็จลอยขึ้นไปจงกรมอยู่บนอากาศแล้วปล่อยธุรีละอองพระบาทหล่นลงมาบนพระเศียรของเหล่าประยูรญาติ ทำให้ทุกคนละทิ้งทิฐิแล้วถวายบังคมพระพุทธเจ้า ขณะนั้นฝนโบกขรพรรษมีน้ำเป็นสีแดงครั่งก็ตกลงมา เกิดเป็นความอัศจรรย์ต่อผู้ที่พบเห็น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าฝนชนิดนี้เคยตกมาแล้วในอดีต แล้วจึงทรงแสดงธรรมเรื่องมหาเวสสันดรชาดก หรือเรื่องมหาชาติให้แก่พระภิกษุและพระประยูรญาติฟังทั้ง 13 กัณฑ์
บทเรียนในวันนี้คงจะทำให้น้อง ๆ หลายคลายข้อข้องใจกันไปแล้วนะคะ ว่าทำไมมหาเวสสันดรชาดกถึงสำคัญ นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นมหาชาติแล้ว เนื้อหาของเรื่องก็ยังแฝงไปด้วยคติธรรมสอนใจ แต่จะมีอะไรบ้างนั้น น้อง ๆ จะได้เรียนรู้กันในตัวบทของมหาเวสสันดรชาดก ที่จะพาไปเจาะลึกเรื่องย่อของทั้ง 13 กัณฑ์เลยค่ะ สุดท้ายนี้เพื่อทบทวนบทเรียน น้อง ๆ อย่าลืมชมคลิปการสอนของครูอุ้มและหมั่นทำแบบฝึกหัดกันด้วยนะคะ
อย่าพลาดการติดตามบทความภาษาไทยจาก nockacademy