การคิด คือ กระบวนการทำงานของสมองที่ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยประสบการณ์ความรู้และสภาพแวดล้อมมาพัฒนาการคิดและแสดงออกมาอย่างมีระบบ บทเรียนในวันนี้เราจะพาน้อง ๆ ไปเจาะลึกถึงวิธีการคิดทั้ง 3 แบบคือ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และ ประเมินค่า ถ้าพร้อมแล้วเราไปเรียนรู้พร้อมกันเลยค่ะ
การพัฒนาและแสดงความคิด
มนุษย์สามารถแสดงความคิดออกมาได้โดยการใช้ภาษา ซึ่งการใช้ภาษานั้นก็คือวิธีการถ่ายทอดความคิดที่อยู่ในหัวของเราออกมาให้คนอื่นเข้าใจและรู้ว่าเรามีความคิดต่อสิ่งนั้น ๆ อย่างไรบ้างไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือการเขียน ดังนั้นการพัฒนาความคิดจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยวิธีการคิดสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทดังนี้
วิธีคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินค่า
การวิเคราะห์
การวิเคราะห์ คือ การจำแนกแยกแยะสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วค้นหาองค์ประกอบและความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น
ขั้นตอนวิเคราะห์
ขั้นตอนของวิธีคิดเชิงวิเคราะห์สามสรุปได้ดังนี้
การกำหนดขอบเขตหรือนิยามสิ่งที่จะวิเคราะห์ให้ชัดเจนว่าเราจะวิเคราะห์สิ่งไหนหรือเรื่องอะไร ต่อจากนั้นให้เรากำหนดจุดมุ่งหมายให้ชัดเจนว่าจะวิเคราะห์เพื่ออะไร การกำหนดจุดมุ่งหมายนี้จะช่วยให้เรารู้เป้าหมายและสามารถวิเคราะห์จนบรรลุเป้าหมายนั้นได้ ต่อมาสิ่งที่สำคัญสำหรับการวิเคราะห์คือความรู้ที่เราจะใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์เพื่อที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาแยกแยะ โดยกระจายสิ่งที่กำหนดให้ออกเป็นส่วนย่อยๆ โดยอาจใช้หลัก 5W 1H ประกอบด้วย What (อะไร) Where (ที่ไหน) When (เมื่อไร) Why (ทำไม) Who (ใคร) และ How (อย่างไร) จากนั้นสรุปผลวิเคราะห์ออกมา
การสังเคราะห์
การสังเคราะห์ คือ การดึงองค์ประกอบต่าง ๆ มาหลอมรวมกันภายใต้โครงร่างใหม่อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากเดิม การคิดสังเคราะห์ครอบคลุมถึงการค้นคว้า รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะคิดซึ่งมีมากหรือกระจายกันอยู่มาหลอมรวมกัน คนที่คิดสังเคราะห์ได้เร็วกว่าย่อมได้เปรียบกว่าคนที่สังเคราะห์ไม่ได้ ซึ่งจะทำให้เข้าใจและเห็นภาพรวมของสิ่งนั้นได้มากกว่า
ขั้นตอนการสังเคราะห์
1. กำหนดวัตถุประสงค์ของสิ่งใหม่ที่ต้องการสร้างหรือสังเคราะห์ขึ้น
2. หาความรู้เกี่ยวกับหลักการ เพื่อศึกษาส่วนประกอบหรือวิเคราะห์ข้อมูลที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์
3. เลือกและนำข้อมูลที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์มาจัดทำกรอบแนวคิดสำหรับสร้างสิ่งใหม่
4. สร้างสิ่งใหม่ตามวัตถุประสงค์และกรอบแนวคิดที่กำหนดโดยการผสมผสานส่วนประกอบ/ข้อมูลที่เลือกรวมทั้งข้อมูลอื่น ๆ ตามความเหมาะสมและความจำเป็น
5. ตรวจสอบความถูกต้อง เหมาะสม ปรับปรุงแก้ไข และนำไปใช้ประโยชน์
การสังเคราะห์แตกต่างจากการวิเคราะห์อย่างไร
การวิเคราะห์และสังเคราะห์นั้นแตกต่างกัน เพราะการวิเคราะห์จะจำแนกแยกแยะออกมาเพื่อค้นหาองค์ประกอบและความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้นให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น แต่การสังเคราะห์จะดึงองค์ประกอบต่าง ๆ นั้นมารวมกันให้เกิดเป็นสิ่งใหม่ เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากเดิม
การประเมินค่า
ประเมินค่า หมายถึง การใช้ดุลพินิจตัดสินคุณค่าของสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร เป็นคุณหรือโทษ มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์
ขั้นตอนการประเมินค่า
ตัวอย่างการประเมินค่า
การประเมินค่าวรรณคดีนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่ โดยประเมินค่าด้านภาษา สิ่งแรกคือการทำความเข้าใจเกี่ยวกับนิราศภูเขาทองทั้งหมดว่ามีที่มาอย่างไร เรื่องย่อเป็นอย่างไร ศึกษาตัวบทเด่น ๆ จากนั้นนำคำประพันธ์มาพิจารณาคุณด้านวรรณศิลป์ โดยอาจใช้กวีโวหาร(รสทางวรรณคดี)มาเป็นเกณฑ์ว่าวรรณคดีมีกวีโวหาร(รสทางวรรณคดี)อย่างไรบ้าง หรือหาว่ามีการใช้โวหารชนิดใดบ้าง เพียงเท่านี้ก็จะสามารถประเมินค่าบทประพันธ์ด้านภาษาได้แล้วค่ะ
การวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินค่า เป็นการคิดขั้นสูงที่มีขั้นตอนในการคิดเพื่อสื่อสารออกมาให้ผู้อื่นรับรู้และเข้าใจตรงกันอย่างแจ้มแจ้ง วิธีคิดเหล่านั้นมีประโยชน์อย่างมากหากน้อง ๆ นำไปประยุกต์ให้เข้ากับชีวิตประจำวันของเรา สุดท้ายนี้เพื่อให้น้อง ๆ ได้เห็นตัวอย่างของการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินค่าได้อย่างชัดเจนมากขึ้นก็สามารถตามไปดูคลิปการสอนของครูอุ้มเพื่อทบทวนบทเรียนกันได้เลยค่ะ
อย่าพลาดการติดตามบทความภาษาไทยจาก nockacademy