ระดับภาษา มีความสำคัญอย่างมากในภาษาไทย น้อง ๆ ทราบไหมคะว่าภาษาที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ ก็มีระดับของมันที่จะเป็นตัวบ่งบอกความเหมาะสม ให้เราได้เลือกใช้กันอย่างถูกกาลเทศะ อยากรู้ไหมคะว่ามีกี่ระดับ แต่ละระดับเป็นอย่างไร ต้องใช้แบบไหน ใช้กับใครจึงจะถูก ถ้าพร้อมแล้ว ไปเรียนรู้บทเรียนภาษาไทยในวันนี้กันเลยค่ะ
ความหมายของ ระดับภาษา
ระดับภาษา หมายถึง ความลดหลั่นของถ้อยคำและการเรียบเรียงถ้อยคำที่ใช้โดยพิจารณาตามโอกาสหรือกาลเทศะ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เป็นผู้สื่อสาร ผู้รับสาร และเนื้อหาที่สื่อสาร
ความสำคัญของระดับภาษา
ระดับภาษานั้นมีขึ้นเพื่อให้บุคคลแต่ละกลุ่มสื่อสารกันได้อย่างง่ายแต่เหมาะสมมากขึ้น เนื่องจากวัฒนธรรมของไทยต้องนับถือผู้ที่อาวุโสกว่า และมีงานพิธีการต่าง ๆ เยอะ ทำให้ต้องมีภาษาที่ต่างจากภาษาพูดทั่วไป นอกจากนี้ระดับภาษายังเป็นการบอกถึงวัฒนธรรมของภาษาไทยอีกด้วย เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ภาษามีการเปลี่ยนแปลง คำเก่าหลายคำจึงถูกเปลี่ยนไปเป็นคำศัพท์เก่าที่ไม่ค่อยมีคนใช้ยกเว้นจะใช้ในพิธีการหรืออย่างเป็นทางการ
ประเภทของระดับภาษา
ระดับภาษามีทั้งหมด 5 ระดับ แบ่งออกมาได้ดังนี้
ระดับพิธีการ เป็นภาษาที่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ มีความประณีต งดงาม ภาษาที่ใช้เป็นคำระดับสูงและมีความซับซ้อนของประโยคอยู่ ภาษาในระดับนี้จะใช้ในโอกาสสำคัญอย่างงานราชพิธี วรรณกรรมชั้นสูง
ระดับทางการ เป็นอีกภาษาหนึ่งที่มีความสมบูรณ์และถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ มักใช้ในโอกาสสำคัญ ๆ ที่เป็นทางการ อย่างเช่น หนังสือราชการวิทยานิพนธ์ รายงานทางวิชาการ การกล่าวปราศรัย กล่าวเปิดพิธีหรืองานสำคัญ
ระดับกึ่งทางการ ระดับภาษานี้จะอยู่ก้ำกึ่งระหว่างระดับที่เป็นทางการกับไม่เป็นทางการ เป็นภาษาที่สุภาพ แต่ไม่ได้เคร่งครัดเท่าภาษาทางการ อาจมีภาษาระดับสนทนาเข้ามาปนด้วย มักใช้ในการติดต่อธุรกิจ หรือพูดกับคนที่ไม่รู้จัก ไม่สนิท และยังใช้กับงานเขียนอย่างเช่น สารคดี บทวิจารณ์ เกี่ยวกับบันเทิงคดีต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เนื้อหาเครียดเกินไป
ระดับสนทนา เป็นภาษาที่ใช้สนทนากับบุคคลที่รู้จักหรือไม่รู้จักในเวลาส่วนตัว ร่วมถึงเจรจาซื้อขายหรือการประชุมที่ไม่เป็นทางการ มักมีรูปประโยคง่าย ๆ แต่ยังคงความสุภาพ เช่น การรายงานข่าว การเจรจาธุระทั่วไป
ระดับกันเอง เป็นภาษาพูดทั่วไปที่ใช้กับคนสนิท มีจุดประสงค์คือเพื่อนความสนุกสนาน ภาษาที่ใช้ขึงเป็นภาษาที่ฟังแล้วดูสบาย ๆ ไม่เคร่งครัด โดยคำที่ใช้จะมีทั้งคำหยาบ คำสแลง คำตัด ประโยคอาจไม่สมบูรณ์แต่ผู้สื่อสารและผู้รับสารจะเข้าใจความหมายกัน ไม่นิยมใช้ภาษาเขียนอย่างพวกวรรณกรรม วรรณคดี หรืองานเขียนที่เป็นทางการ แต่จะสามารถใช้เรื่องสั้น นวนิยาย ภาษาข่าวในหนังสือพิมพ์ หรือการเขียนบทละคร เป็นต้น
การแบ่งระดับภาษา
การแบ่งระดับภาษาจะพิจารณาจากโอกาส กาลเทศะ และสถานะของผู้พูดกับผู้ฟังรวมไปถึงเนื้อหา เพื่อให้เลือกใช้ตามสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
การใช้ระดับภาษา ต้องใช้ให้ถูกต้องตามกาลเทศะเพื่อให้เหมาะสม หลังได้เรียนเนื้อหาในบทเรียนวันนี้กันไปแล้ว น้อง ๆ ก็คงพอจะเข้าใจและมองภาพออกกันใช่ไหมคะว่าเราควรใช้ภาษาแบบไหนกับใคร ก่อนจากกันน้อง ๆ อย่าลืมทำแบบฝึกหัดเพื่อทบทวนนะคะ จะได้ใช้ภาษากันได้อย่างถูกต้อง และเพื่อไม่ให้พลาดเวลาเจอในข้อสอบ ก็ไปติดตามชมคลิปการสอนของครูอุ้ม ฟังคำอธิบายไปพร้อม ๆ กับฝึกคิดและวิเคราะห์ภาษา จะยิ่งทำให้น้อง ๆ เข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้นนะคะ ไปดูกันเลยค่ะ
อย่าพลาดการติดตามบทความภาษาไทยจาก nockacademy