สุภาษิตพระร่วง
คนไทยนิยมใช้สุภาษิตสั่งสอนลูกหลานกันมาตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน เชื่อว่าน้อง ๆ หลายคนก็คงจะเคยได้ยินสุภาษิตกันมาไม่มากก็น้อย ดังนั้นบทเรียนในวันนี้จะพาน้อง ๆ ไปเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของสุภาษิตพระร่วง วรรณคดีอันทรงคุณค่าและเป็นวรรณคดีเล่มแรกที่แต่งคำประพันธ์เป็นร่ายโบราณแบบร่ายสุภาพ ไปศึกษาเรื่องนี้พร้อม ๆ กันเลยค่ะ
ความเป็นมาของสุภาษิตพระร่วง
สุภาษิตพระร่วง เป็นวรรณคดีคำสอนที่ทรงคุณค่าที่มีมาอย่างยาวนาน มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สุภาษิตบัณฑิตพระร่วง คำว่า พระร่วง ทำให้คนเข้าใจว่าอาจจะเป็นคำสอนของกษัตริย์สักคนที่มีนามว่า พระร่วง แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดที่เป็นตัวบ่งบอกว่าพระร่วงที่กล่าวถึงในสุภาษิตนั้นคือกษัตริย์องค์ใด นอกจากนี้ยุคสมัยที่แต่งสุภาษิตพระร่วงขึ้นก็ยังไม่แน่ชัดอีกด้วย เพราะถึงแม้จะมีนักวิชาการบอกว่าสุภาษิตพระร่วงคล้ายคลึงกับคำสอนของพ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์ในสมัยสุโขทัย แต่บางคนก็มองว่าอาจจะไม่ได้เก่าขนาดนั้น เพราะคำประพันธ์นั้นคล้ายกับแต่งใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อย่างไรก็ตาม ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จารึกเรื่องสุภาษิตพระร่วงลงบนแผ่นศิลาประดับไว้บนฝาผนังภายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
ลักษณะคำประพันธ์
ร่ายสุภาพ
ลักษณะบังคับของร่ายสุภาพ
- คณะ ร่ายสุภาพ 1 บท มีตั้งแต่ 5 วรรคขึ้นไป วรรค 1 มี 5 คำ บทหนึ่งจะมีกี่วรรคก็ได้แต่ต้องจบด้วยโคลงสองสุภาพ
- สัมผัส สัมผัสจากวรรคหน้าไปคำที่ 1 2 หรือ 3 ของวรรคถัดไปและวรรคที่อยู่หน้า 3 วรรคสุดท้ายจะสัมผัสกับคำที่ 1 2 หรือ 3 ของบาทต้นในโคลงสองสุภาพ
- คำสร้อย เติมได้ 2 คำท้ายบท
โคลงสี่สุภาพ
ลักษณะบังคับของโคลงสี่สุภาพ
- คณะ 1 บทมี 4 บาท แต่ละบาทมี 2 วรรค วรรคหน้า 2 คำ วรรคหลัง 4 คำ ยกเว้นวรรคหลังของบาทที่ 4 ที่จะมี 4 คำ
- คำสร้อย ในบาทที่ 1 และบาทที่ 3 อาจมีคำสร้อยหรือไม่มีก็ได้
- คำเอก คำโท คำเอก 7 แห่งและโท 4 แห่ง กรณีที่หาคำเอกไม่ได้ให้ใช้คำตายแทน
- คำเอกโทษและคำโทโทษ หมายถึง คำที่เคยใช้วรรณยุกต์เอกหรือโท แต่เปลี่ยนไปใช้วรรณยุกต์ให้เป็นเสียงเดียวกันกับข้อบังคับ ในกรณีที่ไม่สามารถหาคำมาแต่งได้
- สัมผัส คำสุดท้ายของบาทที่ 1 สัมผัสกับคำที่ 5 ของวรรคที่ 2 หรือบาทที่ 3, คำสุดท้ายของบาทที่ 2 สัมผัสกับคำที่ 5 ของบาทที่ 4 ส่วนสัมผัสระหว่างบทนั้น คำสุดท้ายของบทต้องสัมผัสกับคำที่ 1 2 หรือ 3 ของบทต่อไป
โคลงสี่สุภาพในลักษณะโคลงกระทู้โดยแยกคำหน้าออกมา จากบทนี้จะได้คำว่า บัณฑิตพระร่วง ซึ่งก็หมายถึงสุภาษิตพระร่วงนั่นเอง
เป็นอย่างไรบ้างคะ หลังจากที่ได้รู้เรื่องราวประวัติความเป็นมาของสุภาษิตพระร่วงแล้ว ถึงผู้แต่งและปีที่แต่งจะไม่มีระบุแน่ชัดว่าเป็นใครและแต่งขึ้นในปีไหน แต่สุภาษิตพระร่วงก็นับว่าเป็นวรรณคดีอันทรงคุณค่า เต็มไปด้วยคติธรรมสอนใจมากมาย และถ้าน้อง ๆ คนไหนอยากฟังคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุภาษิตพระร่วง รวมไปถึงลักษณะคำประพันธ์ทั้งสองให้เข้าใจมากขึ้น ก็สามารถตามไปฟังได้ที่คลิปด้านล่างนี้เลยค่ะ