ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีที่แล้วก่อนที่อินเทอร์เน็ตจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตของทุกคนเหมือนอย่างทุกวันนี้ แหล่งการสืบค้นหลัก ๆ จะอยู่ที่ห้องสมุด แต่ในปัจจุบันเราสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นเพียงคลิกปลายนิ้ว ข้อมูลที่ต้องการค้นหาก็มาปรากฏอยู่ตรงหน้าให้เลือกสรรมากมาย แต่เราจะมีวิธีการเลือกสืบค้นข้อมูลกันอย่างไร ถึงจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนที่สุด บทเรียนในวันนี้ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้การหาข้อมูลสำหรับการเรียนของน้อง ๆ นั้นง่ายขึ้น เราไปเรียนรู้เรื่อง การสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต กันเลยค่ะ
การสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต
เป็นการค้นคว้าหาความรู้โดยใช้สารสนเทศในลักษณะต่าง ๆ โดยมีเว็บไซต์ที่เป็นแหล่งเก็บรวบรวมภาพและข้อมูลต่าง ๆ
เทคนิคใน การสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต
ข้อมูลที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตนั้นมีมากมาย จนทำให้อาจจะมีปัญหาเพราะไม่รู้ว่าควรเลือกเข้าเว็บไซต์ไหนดีเพื่อให้ได้คำตอบของสิ่งที่เรากำลังค้นหา ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงต้องมีจำกัดคำค้นหาให้แคบลง เพื่อให้ตรงประเด็นกับสิ่งที่เรากำลังหาอยู่ โดยมีวิธีการดังนี้
สืบค้นแบบไม่ทราบข้อมูล
ให้ใช้บริการของเว็บไซต์ที่มีแหล่งข้อมูลใหญ่ ๆ อย่าง google หรือ yahoo เพื่อเลือกเข้าไปดูข้อมูลของเว็บไซต์อื่น ๆ ที่ขึ้นมา สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราได้ข้อมูลตามต้องการคือคีย์เวิร์ดที่เลือกใช้ ถ้าเลือกใช้คีย์เวิร์ดที่กว้างเกินไป ก็จะมีข้อมูลขึ้นมาเยอะและไม่ตรงกับความต้องการของเรา ดังนั้นควรเพิ่มคีย์เวิร์ดเพื่อระบุให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น ถ้าน้อง ๆ ต้องการจะสืบค้นเกี่ยวกับวรรณคดีเรื่องขุนช้าขุนแผนแล้วน้อง ๆ นำคำว่า ขุนช้างขุนแผนไปไปใส่ในช่องค้นหา ก็จะมีข้อมูลเกี่ยวกับวรรณคดีขึ้นมามากมาย แต่ถ้าน้อง ๆ ระบุไปด้วยว่า “ขุนช้างขุนแผน คุณค่า” น้อง ๆ ก็จะได้ข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นตามที่ต้องการ
สืบค้นแบบทราบข้อมูล
ในกรณีนี้น้อง ๆ จะต้องรู้อยู่แล้วว่าข้อมูลที่ตัวเองต้องการจะหานั้นอยู่ในเว็บไซต์ไหน เมื่อเข้าไปแล้วพิมพ์ในช่องค้นหา ก็จะเจอกับคำตอบที่ชัดเจนกว่าไปหาในเว็บไซต์ใหญ่ ๆ อย่าง google
ตัวอย่างเช่น น้อง ๆ ต้องการจะหาคำไวพจน์ของคำว่า ม้า ก็เข้าไปในเว็บไซต์ wordyguru ตรงส่วนของคำไวพจน์แล้วพิมพ์คำว่า ม้า ในช่องค้นหา เพียงแค่นั้นน้อง ๆ ก็จะได้คำไวพจน์ทั้งหมดของคำว่าม้าที่ถูกรวบรวมไว้ในเว็บไซต์ นอกจากนี้จะค้นหาคำอื่น ๆ ต่อไปได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาไปหาหลายเว็บไซต์อีกด้วย
วิธีกรองข้อมูลสืบค้น
1.ใช้ตัวเชื่อมทางตรรกศาสตร์ AND OR NOT
AND เป็นการสั่งให้หาโดยจะต้องมีคำนั้น ๆ มาแสดงด้วย เป็นการจำกัดข้อมูลมากขึ้น ไม่ให้เว็บไซต์ขึ้นมามากเกินไป
OR เป็นการสั่งให้หาโดยจะต้องนำคำใดคำหนึ่งมาแสดง ใช้ในกรณีที่หากคีย์เวิร์ดที่เราใส่ไปในครั้งแรกมีข้อมูลน้อยเกินไป
NOT ใช้ในกรณีที่มีข้อมูลมากเกินไปและเราต้องจำกัดข้อมูลให้แคบลง โดยกำหนดไม่ให้มีคำที่เราเลือกขึ้นมาในผลการค้นหา
2. ใช้เครื่องหมาย + – ()
+ หน้าคีย์เวิร์ดคำที่เราต้องการ
– ใช้นำหน้าคำที่ไม่ต้องการ
() เป็นการช่วยแยกกลุ่มคำ
หลักความเชื่อ 10 ประการ (กาลามสูตร)
หลักกาลามสูตร หมายถึง วิธีปฏิบัติในเรื่องที่ควรสงสัย หรือหลักความเชื่อต่าง ๆ มีด้วยกัน 10 ประการ
1.อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา (มา อนุสฺสเวน)
2.อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆ กันมา (มา ปรมฺปราย)
3.อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ (มา อิติกิราย)
4.อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำรา หรือคัมภีร์ (มา ปิฏกสมฺปทาเนน)
5.อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรกะ (มา ตกฺกเหตุ)
6.อย่าปลงใจเชื่อ เพราะอนุมาน (มา นยเหตุ)
7.อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล (มา อาการปริวิตกฺเกน)
8.อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว (มา ทิฏฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา)
9.อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ (มา ภพฺพรูปตาย)
10.อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา (มา สมโณ โน ครูติ)
หลักกาลามสูตรนี้เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยกรองข้อมูล เพราะทุกข้อมูลที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเสมอไป ดังนั้นน้อง ๆ จึงจะต้องเช็คแหล่งข้อมูลเสียก่อนว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ ก่อนจะนำข้อมูลออกมาเพื่อใช้อ้างอิงหรือเก็บเป็นความรู้ค่ะ ถือเป็นหลักคำสอนอีกเรื่องหนึ่งที่ช่วยให้เราใช้ชีวิตอย่างมีสติในโลกที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตของทุกคน สุดท้ายนี้น้อง ๆ สามารถเข้าไปดูคลิปการสอนของครูอุ้มกันได้นะคะ ทั้งสนุกและได้ความรู้ น้อง ๆ จะได้เข้าใจถึงวิธีการค้นหาข้อมูลจากเว็บไซต์กันมากขึ้น ไปชมกันเลยค่ะ
อย่าพลาดการติดตามบทความภาษาไทยจาก nockacademy