ในบทเรียนก่อนหน้าเราได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมา ลักษณะคำประพันธ์และเรื่องย่อกลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้าไปแล้ว บทเรียนภาษาไทยในวันนี้จะต่อเนื่องกับครั้งก่อนโดยการพาน้อง ๆ ไปเรียนรู้เรื่องตัวบทเด่น ๆ ถอดคำประพันธ์ กลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้า พร้อมทั้งศึกษาคุณค่าที่แฝงอยู่ในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เนื้อหา หรือด้านวรรณศิลป์ ถ้าน้อง ๆ พร้อมจะเรียนวรรณคดีเรื่องนี้ต่อไปแล้ว ก็ไปลุยพร้อมกันเลยค่ะ
ถอดคำประพันธ์ กลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้า
สกุลเอ๋ยสกุลสูง
ชักจูงจิตชูศักดิ์ศรี
อำนาจนำความสง่าอ่าอินทรีย์
ความงามนำให้มีไมตรีกัน
ความร่ำรวยอวยสุขให้ทุกอย่าง
เหล่านี้ต่างรอตายทำลายขันธ์
วิถีแห่งเกียรติยศทั้งหมดนั้น
แต่ล้วนผันมาประจบหลุมศพเอย
ถอดคำประพันธ์
ความหมายของบทนี้ กล่าวถึงคนที่ศักดิ์สูง ๆ ว่าการมีอำนาจเป็นตัวทำให้มีเพื่อน มีความสุข มีเงิน แต่สุดท้ายไม่ว่าจะมีพร้อมแค่ไหนทุกคอย่างต่างก็ต้องพบกับความตายเข้าสักวัน ชื่อเสียง เกียรติยศที่เคยมี ในบั้นปลายชีวิตก็ต้องไปลงเอยในหลุมศพเหมือนคนอื่น ๆ
กองเอ๋ยกองข้าว
กองสูงราวโรงนายิ่งน่าใคร่
เกิดเพราะการเก็บเกี่ยวด้วยเคียวใคร
ใครเล่าไถคราดฟื้นฟื้นแผ่นดิน
เช้าก็ขับโคกระบือถือคันไถ
สำราญใจตามเขตประเทศถิ่น
ยึดหางยามยักไปตามใจจินต์
หางยามผินตามใจเพราะใครเอย
ถอดคำประพันธ์
บทนี้กล่าวถึงการทำงานของชาวนาไทย โดยพูดถึงกองข้าวในโรงนาว่าเก็บเกี่ยวโดยชาวนาที่เช้ามาก็ขี่โคกระบือไปไถนา ปลูกข้าวให้พวกเราคนไทยกินกัน
คุณค่าที่อยู่ในกลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้า
ด้านสังคม
- ดัดแปลงให้เข้ากับบริบทสังคมไทย
เนื่องจากวรรณคดีถูกแปลมาจากกวีพิพนธ์อังกฤษ ความต่างของวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมทำให้หากใช้ของเดิม คนไทยที่อ่านก็อาจจะไม่เข้าใจและไม่เห็นภาพ พระอุปกิตศิลปสารจึงได้ดัดแปลงให้เข้ากับบริบทสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ สภาพสังคม ความเชื่อ หรือแม้แต่พันธ์ุไม้ต่าง ๆ เช่น เปลี่ยนจากต้นเอล์มเป็นต้นโพธิ์ หรือตัวบุคคล เช่น เปลี่ยนจาก จอห์น แฮมพ์เด็น นักการเมืองชาวอังกฤษ เป็นชาวบ้านบางระจัน หรือเปลี่ยนจอห์น มิลตัน กวีชาวอังกฤษเป็น ศรีปราชญ์ ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนไทยโดยทั่วไป
ด้านเนื้อหา
- แนวคิด คำสอน
แนวคิดคำสอนหลักของบทประพันธ์นี้คือกล่าวถึงสัจธรรมของชีวิต สังขารไม่เที่ยง แต่ก็มีเรื่องของการละกิเลส การปล่อยวาง การใช้ชีวิตเรียบง่ายแต่ก็เปี่ยมไปด้วยความสุข กล่าวโดยรวมคือสอนให้ผู้อ่านได้เข้าใจชีวิตและปล่อยวางเพื่อให้ชีวิตมีความสุข
ด้านวรรณศิลป์
- ความงดงามด้านวรรณศิลป์
แม้จะเป็นวรรณคดีแปล แต่เพราะพระยาอุปกิตศิลปสารเป็นผู้ประพันธ์ร้อยกรอง จึงทำให้ภาษาที่ใช้นั้นมีความงดงาม มีการใช้สัทพจน์เลียนเสียงธรรมชาติ เล่นสัมผัสพยัญชนะ สัมผัสสระ ซ้ำคำ ใช้อุปมา นอกจากนี้ยังมีการคำถามเชิงวาทศิลป์ในบทประพันธ์เช่น คำว่า เคียวใคร, ใครเล่า เรียกได้ว่าเป็นวรรณคดีที่แต่งดีและอัดแน่นไปด้วยคุณค่าทางด้านวรรณศิลป์มากมาย
สรุปคุณค่าที่อยู่ในเรื่อง
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ หลังจากที่ได้เรียนรู้ตัวบทและคุณค่าของวรรณคดีเรื่องกลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้า ก่อนหน้านี้เราได้เรียนเรื่องประวัติความเป็นมา ลักษณะคำประพันธ์ และเรื่องย่อกันไปแล้ว บทเรียนในวันนี้ก็ถือว่าทำให้เนื้อหาครบถ้วนมากขึ้น น้อง ๆ น่าจะเข้าใจและเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้นใช่ไหมคะว่าทำไมกวีนิพนธ์ของอังกฤษถึงถูกแปลมาอยู่ในฉบับภาษาไทยและเป็นหนึ่งในแบบเรียนภาษาของเราในปัจจุบัน เพราะวรรณคดีเรื่องนี้ไม่เพียงแต่จะให้ข้อคิดแต่ยังมีคุณค่าด้านวรรณศิลป์เต็มเปี่ยม เหมาะแก่การเรียนรู้และศึกษามาก ๆ เลยค่ะ สุดท้ายนี้ น้อง ๆ อย่าลืมหมั่นทบทวนบทเรียนและชมคลิปการสอนของครูอุ้มเพื่อฟังคำอธิบายนะคะ ครูอุ้มจะอธิบายคำศัพท์และการถอดคำประพันธ์ ถ้าดูจบแล้ว รับรองว่าถ้าเจอในข้อสอบ ต้องทำได้อย่างผ่านฉลุยแน่นอน
อย่าพลาดการติดตามบทความภาษาไทยจาก nockacademy