หลังจากที่เราได้เรียนรู้เรื่องการบทร้อยกรองไปแล้ว วันนี้เราจะมาพูดถึงบทร้อยแก้วกันบ้าง ซึ่งน้อง ๆ หลายคนคงจะรู้จักบทร้อยแก้วกันดีอยู่แล้ว เพราะเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน แต่น้อง ๆ ทราบไหมคะว่า การอ่านบทร้อยแก้ว ก็มีวิธีอ่านที่ถูกต้องเหมือนกัน เพราะการที่เราอ่านไม่ถูกต้องนั้นก็อาจจะทำให้ไม่น่าฟัง น่าเบื่อ รวมไปถึงอาจทำให้ใจความที่ผู้แต่งต้องการจะสื่อสารคลาดเคลื่อนได้อีกด้วย ถ้าอยากรู้แล้วว่ามีหลักเกณฑ์และวิธีอ่านอย่างไร ไปเรียนรู้เรื่องนี้พร้อมกันเลยค่ะ
ร้อยแก้วคืออะไร ?
บทข้อความทั่วๆ ไป ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน โดยต้องเขียนเป็นประโยค ข้อความติดต่อกัน ตามปกติ มีประธาน กริยา กรรม เรียงร้อยข้อความไปตามเจตนาของผู้พูดหรือผู้เขียน ไม่มีสัมผัสเหมือนบทร้อยกรอง
การอ่านบทร้อยแก้ว
การอ่านบทร้อยแก้ว หมายถึง การอ่านถ้อยคำที่มีผู้เรียบเรียงหรือประพันธ์ไว้ โดยเปล่งเสียง และวางจังหวะเสียงให้เป็นไปตามความนิยมและเหมาะสมกับเรื่องที่อ่าน โดยสามารถแสดงลีลาการอ่านให้เข้าถึงอารมณ์ตามเจตนาของผู้ประพันธ์ได้เพื่อให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์คล้อยตามไปกับการฟังบทประพันธ์ที่อ่าน
หลักเกณฑ์ในการอ่านบทร้อยแก้ว
หลักเกณฑ์ทั่วไปในการอ่านบทร้อยแก้วมีดังนี้
- การยืนต้องยืนตรงแต่ไม่เกร็ง เท้าทั้งสองห่างกันพอสมควร น้ำหนักตัวตกอยู่ที่ฝ่าเท้าทั้ง 2 ข้าง ถ้านั่งก็ต้องนั่งให้เรียบร้อย หลังตรงแต่ไม่แข็งทื่อ ขาวางแนบกัน ไม่ควรนั่งไขว่ห้าง ยกเว้นแต่ว่าผู้ฟังจะเป็นเพื่อนที่สนิทสนมและอยู่ในสถานที่ที่มีแต่คนสนิทกันเอง
- การจับหนังสือ จับหนังสือให้มั่น ให้ช่วงสายตากับตัวหนังสืออยู่ในระดับที่เหมาะสม
- ควรศึกษาเรื่องที่อ่านให้เข้าใจโดยศึกษาสาระสำคัญของเรื่องและข้อความทุกข้อความ เพื่อจะแบ่งวรรคตอนในการอ่านได้อย่างเหมาะสม
- นำเนื้อหาที่จะอ่านมาแบ่งวรรคตอนเพื่อที่ตอนอ่าน จะอ่านได้อย่างลื่นไหล ไม่ติดขัด ไม่ตะกุกตะกัก
- อ่านออกเสียงให้ดังพอเหมาะกับสถานที่และจำนวนผู้ฟัง ให้ผู้ฟังได้ยินทั่วกัน ไม่ดังหรือค่อยจนเกินไป
- อ่านให้คล่อง และออกเสียงให้ถูกต้องตามอักขรวิถีและชัดเจน โดยเฉพาะตัว ร ล และคำควบกล้ำ
- อ่านออกเสียงให้เป็นธรรมชาติที่สุด
- เน้นเสียงและถ้อยคำตามน้ำหนักความสำคัญของใจความและจังหวะให้เป็นไปตามเนื้อเรื่อง เช่น ถ้าเนื้อเรื่องตัวละครกำลังโกรธ ก็ควรออกเสียงให้ดุดัน เพื่อให้ผู้ฟังเข้าถึงอารมณ์ไปด้วย
- ไม่ก้มหน้าก้มตาอ่าน ควรมองตาผู้ฟังบ้างระหว่างเล่า
วิธีแบ่งจังหวะในการอ่านบทร้อยแก้ว
การฝึกอ่านร้อยแก้ว จะใช้เครื่องหมายแบ่งวรรคตอนในการอ่านเพื่อเป็นการเว้นช่วงจังหวะการอ่าน
วิธีการอ่านบทร้อยแก้วแบบต่าง ๆ
- วิธีการอ่านแบบบรรยาย ออกเสียงให้ถูกต้อง ชัดถ้อยชัดคำ เว้นวรรคตอนให้เหมาะสม เน้นเสียงและถ้อยคำตามน้ำหนักความสำคัญของใจความ
- วิธีการอ่านแบบพรรณนาให้เห็นภาพ ควรออกเสียงให้เป็นเสียงพูดอย่างธรรมชาติที่สุด ใช้น้ำเสียงและอารมณ์ให้เหมาะกับเนื้อความ บทสนทนา และบทบรรยาย ใช้น้ำเสียงแตกต่างกัน แต่ให้เปลี่ยนไปตามอารมณ์ของตัวละครที่พูด
ตัวอย่าง
ถึงแม้ว่าการอ่านบทร้อยแก้ว จะเป็นการอ่านที่เราพบเจอในชีวิตประจำวันบ่อยที่สุด และดูเหมือนจะไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ก็ประมาทไม่ได้นะคะ เพราะถึงจะเป็นบทร้อยแก้วไม่ใช่บทร้อยกรอง เราก็ต้องแบ่งจังหวะการอ่านให้พอดี มิเช่นนั้นจะดูเหมือนเป็นการท่องจำ อาจทำให้ฟังดูแล้วน่าเบื่อได้ค่ะ สุดท้ายนี้น้อง ๆ สามารถไปดูคลิปการสอนของครูอุ้มได้นะคะ จะมีการอธิบายเกี่ยวกับบทร้อยแก้วไว้ รับรองว่าทั้งสนุก เพลิดเพลิน และได้ความรู้อีกด้วยค่ะ ไปดูกันเลย
อย่าพลาดการติดตามบทความภาษาไทยจาก nockacademy