กลอนสุภาพ เป็นคำประพันธ์ที่หลาย ๆ คนคงจะรู้จักกันดีเพราะพบเจอในวรรณคดีได้ง่าย ใช้กันอย่างแผ่หลาย บทเรียนในวันนี้จะพาน้อง ๆ ทุกคนมาสวมบทนักกวี ฝึกแต่งกลอนสุภาพกันอย่างง่าย ๆ จะมีวิธีและรูปฉันทลักษณ์อย่างไร ไปดูกันเลยค่ะ
ความรู้ทั่วไปเที่ยวกับกลอนสุภาพ
กลอนสุภาพ หมายถึง กลอนเพลงยาว บางครั้งเรียก กลอนแปด กลอนตลาด กลอนสุภาพ เป็นกลอนประเภทหนึ่งที่เรียบเรียงเข้าเป็นคณะ ใช้ถ้อยคำและทำนองเรียบ ๆ เป็นพื้นฐานของกลอนหลายชนิด มีชื่อเรียกที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในการแต่ง เช่น ถ้าแต่งเพื่อเล่นละครก็จะเรียกกลอนนั้นว่า กลอนบทละคร เป็นต้น
วรรณคดีที่แต่งโดยใช้กลอนสุภาพ
ก่อนที่จะมีนวนิยายให้ได้อ่านกันในปัจจุบัน เรื่องราวความบันเทิงของคนในอดีตจะอยู่ในรูปแบบของนิทาน โดยนิทานเหล่านั้นก็จะใช้การบรรยายออกมาในลักษณะของลิลิต ฉันท์ กาพย์ กระทั่งสุนทรภู่ กวีเอกของเมืองไทย เริ่มแต่งนิทานออกมาเป็นคำกลอน นั่นก็คือเรื่อง โคบุตร เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบที่ใช้ฝึกแต่งกลอนเลยก็ว่าได้ค่ะ ทำให้การแต่งกลอนแผ่หลายมาจนถึงทุกวันนี้ และกลอนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดของกลอนสุภาพ ก็คือ บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน นั่นเองค่ะ
ลักษณะของกลอนสุภาพ
คณะ หมายถึง การจัดคำให้เป็นหมวดหมู่ตามลักษณะของรูปแบบคำประพันธ์ สำหรับกลอนสุภาพหรือกลอนแปด ในหนึ่งบทจะมี 2 บาท ซึ่งประกอบไปด้วยบาทเอกและบาทโท หนึ่งบาทมี 2 วรรค แต่ละวรรคจะมีชื่อเรียกดังนี้
วรรคแรก เรียกว่า วรรคสดับ
วรรคสอง เรียกว่า วรรครับ
วรรคสาม เรียกว่า วรรครอง
วรรคสี่ เรียกว่า วรรคส่ง
คำหรือพยางค์ กลอนสุภาพหรือกลอน 8 มีจำนวนคำ 8 คำตามชื่อ แต่บางกรณีถ้าหาคำลงไม่ได้ก็สามารถอนุโลมให้มี 7-9 คำได้
สัมผัส คือ ลักษณะที่บังคับให้ใช้คำที่เสียงสัมผัสคล้องจองกัน
1. สัมผัสสระ เป็นคำตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปที่มีเสียงสระพ้องกัน ถ้ามีตัวสะกด มาตราตัวสะกดนั้นก็ต้องเป็นมาตราตัวสะกดเดียวกัน
2. สัมผัสอักษร คำที่มีพยัญชนะต้นเสียงเดียวกัน อาจเป็นพยัญชนะตัวเดียวกัน พยัญชนะควบชุดเดียวกัน หรือเป็นพยัญชนะเสียงต่ำคู่เสียงสูงก็ได้
3. สัมผัสใน เป็นการสัมผัสที่ไม่บังคับ คำ 2 คำที่คล้องจองจะอยู่ในวรรคเดียวกัน สามารถสัมผัสได้ทั้งสระและอักษร สัมผัสในช่วยให้บทร้อยกรองมีความไพเราะมากขึ้น
4. สัมผัสนอก เป็นสัมผัสบังคับ ดังนี้
- สัมผัสระหว่างวรรค
– คำสุดท้ายของวรรคสดับ สัมผัสกับคำที่ 3 หรือ 5 ของวรรครับ
– คำสุดท้ายของวรรครับ สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรครอง
– คำสุดท้ายของวรรครอง สัมผัสกับคำที่ 3 หรือ 5 ของวรรคส่ง
- สัมผัสระหว่างบท
– คำสุดท้ายของวรรคส่ง สัมผัสกับคำสุดท้ายของบทต่อไป
กลอนสุภาพ แต่งอย่างไรให้ไพเราะ
การแต่งกลอน ต้องเขียนให้เป็นเรื่องราว สามารถสื่อความหมายได้ แต่นอกจากเนื้อหาแล้ว ความไพเราะก็จะอยู่ที่การใช้ภาษา การเลือกคำมาแต่ง รวมไปถึง คำท้ายวรรค การลงเสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรคที่จะช่วยให้กลอนมีความไพเราะมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่มีการบังคับ แต่เสียงวรรณยุกต์ก็มีความสำคัญ เพราะจะทำให้กลอนที่แต่งมีความไพเราะมากขึ้นนั่นเองค่ะ ตัวอย่างเช่น ถ้าคำสุดท้ายของวรรครับเป็นเสียงวรรณยุกต์เดียวกันกับคำสุดท้ายของวรรครอง เวลาอ่านแล้วจะรู้สึกว่ากลอนบทนั้นเป็นบทเรียบ ๆ ไม่น่าสนใจ
การลงเสียงวรรณยุกต์
วรรคสดับ เลี่ยงเสียงสามัญ
วรรครับ เสียงเอก โท จัตวา
วรรครอง เสียงสามัญ ตรี
วรรคส่ง เสียงสามัญ ตรี
รูปตัวอย่างบทกลอนที่ไพเราะ จากเรื่องพระอภัยมณี
หลังจากได้เรียนรู้เรื่องการแต่งกลอนสุภาพไปอย่างคร่าว ๆ แล้วไม่ยากเลยใช่ไหมคะ สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่อ่านวิธีแต่งกลอนสุภาพแล้วยังไม่เห็นภาพชัดเจน ก็สามารถไปติดตามดูคลิปการสอนของครูอุ้มได้เลยค่ะ ในคลิป ครูอุ้มจะอธิบายวิธีการแต่งกลอนสุภาพอย่างละเอียด ดูจบแล้ว ก็สามารถฝึกแต่งกลอนด้วยตัวเองได้ทันที ไปชมกันเลยค่ะ