ศิลาจารึก เป็นวรรณคดีเชิงประวัติศาสตร์ บทเรียนภาษาไทยในวันนี้จะพาน้อง ๆ ย้อนอดีตไปในสมัยสุโขทัยเพื่อเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของศิลาจารึก ที่เป็นการบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ บนแผ่นดิน ถ้าอยากรู้แล้วว่าแผ่นหินที่ว่านี่มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ก็ไปเรียนรู้พร้อม ๆ กันเลยค่ะ
ศิลาจารึกหลักที่ 1 ประวัติความเป็นมา
ศิลาจารึกหลักที่ 1 จารึกโดยพ่อขุนรามคำแหง ใช้อักษรไทย สุโขทัย หรือ ลายสือไทย ประดิษฐ์ขึ้นในปี 1826 จุดประสงค์คือเพื่อบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัย ทั้งลักษณะการปกครอง ความเป็นอยู่ของประชาชน ความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของพระราชประวัติของพ่อขุนรามคำแหง
การค้นพบศิลาจารึก หลักที่ 1
ในปี พ.ศ. 2376 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงค้นพบศิลาจารึกหลักที่ 1 และพระแท่นมนังคศิลาบาตรที่ปราสาทเก่าเมืองสุโขทัย โดยให้ผู้ที่มีความรู้ด้านภาษาโบราณแปล คือ ศ.ยอร์ช เซเดส์ และ ศ.ฉ่ำ ทองคำวรรณ
เกร็ดน่ารู้
ในตอนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวค้นพบศิลาจารึก พระองค์ยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงงผนวชอยู่ 27 พรรษาก่อนลาผนวชเพื่อมาขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลต่อไป
ลักษณะคำประพันธ์
ลักษณะคำประพันธ์ในศิลาจารึกแต่งเป็นร้อยแก้วบรรยายโวหาร
ลักษณะของศิลาจารึก
เป็นหลักสี่เหลี่ยมทรงกระโจม เนื้อศิลาเป็นหินทรายแป้ง มีข้อความจารึก 4 ด้าน โดยด้านที่ 1 และ 2 มีจารึกด้านละ 35 บรรทัด ส่วนด้านที่ 3 และ 4 มีจารึกด้านละ 27 บรรทัด แท่นศิลาจารึกมีความสูง 1 เมตร 11 เซนติเมตร
เรื่องย่อศิลาจารึก หลักที่ 1
เนื้อหาของศิลาจารึกหลักที่ 1 แบ่งออกเป็น 3 ตอน
ตอนที่ 1 พ่อขุนรามคำแหงเล่าถึงประวัติของตัวพระองค์เองว่าเป็นใคร ย้อนไปถึงเรื่องเราในยุคของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ที่ทำศึกสู้รบกับขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด เมื่อพระราชบิดาเสร็จสวรรคต พ่อขุนบานเมืองซึ่งเป็นพระเชษฐาของพ่อชุนรามคำแหงขึ้นครองราชย์ต่อพระราชบิดา จนกระทั่งพ่อขุนบานเมืองเสด็จสวรรคต พ่อขุนรามคำแหงจึงได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชอาณาจักรสุโขทัย
ตอนที่ 2 ในตอนนี้จะกล่าวถึงเหตุการณ์บ้านเมืองและความเจริญรุ่งเรืองในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งเนื้อหาในตอนนี้จะแตกต่างกับตอนแรกตรงที่ในศิลจารึกเลิกแทนตัวสรรพนามบุรุษที่ 1 ว่า “กู” ซึ่งหมายถึงตัวพ่อขุนรามคำแหงเอง แต่เป็นการบันทึกโดยใช้ชื่อของพ่อขุนรามคำแหง จึงมีสันนิษฐานว่าเนื้อในส่วนนี้มีผู้อื่นบันทึกต่อหลังสิ้นรัชกาลของพ่อขุนรามคำแหงหรือจารึกแทน
ตอนที่ 3 ตอนนี้จะกล่าวถึงพระราชกรณียกิจและพระเกียรติคุณของพ่อขุนรามคำแหงในด้านต่าง ๆ ทั้งความฉลาด ความกล้าหาญ และความสามารถด้านการปกครอง นอกจากนี้ยังกล่าวถึงเรื่องที่สำคัญมาก ๆ อย่างการประดิษฐอักษรไทยตามแบบที่พระองค์ทรงใช้ในศิลาจารึกนี่อีกด้วย
ศิลาจารึก เป็นการแสดงวัฒนธรรมของชนชาติเจ้าของจารึก ซึ่งศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงนี้ก็ทำให้คนรุ่นหลังได้เห็นถึงความเป็นอยู่และเรื่องราวสำคัญ ๆ ทางประวัติศาสตร์อีกมาก อย่างการเมือง การปกครอง หรือการประดิษฐ์อักษรไทยของพ่อขุนราม ในบทต่อไปน้อง ๆ จะได้ศึกษาเกี่ยวกับเนื้อหาและคุณที่อยู่ในศิลาจารึกเพิ่ม แต่ก่อนอื่น น้อง ๆ อย่าลืมทำแบบฝึกหัดและทบทวนความรู้ในบทนี้โดยการดูคลิปการสอนย้อนหลังของครูอุ้มนะคะ ไปรับชมและรับฟังพร้อม ๆ กันเลยค่ะ