บทละครพูดคำฉันท์เรื่อง มัทนะพาธา เป็นวรรณคดีที่ทรงคุณค่าทางวรรณศิลป์ได้รับการยกย่องว่าแต่งดีและมีความแปลกใหม่อีกเรื่องหนึ่ง น้อง ๆ หลายคนอาจจะเคยคุ้นหูกันมาบ้างตามสื่อต่าง ๆ เพราะวรรณคดีเรื่องนี้เป็นหนึ่งในเรื่องที่โด่งดังจึงมักถูกหยิบไปทำเป็นละครทางโทรทัศน์บ่อย ๆ แต่จะมีความเป็นมาอย่างไรนั้น วันนี้เราจะไปศึกษาเรื่องนี้พร้อมกันเลยค่ะ
ประวัติความเป็นมาของบทละครพูดคำฉันท์เรื่อง มัทนะพาธา
มัทนะพาธาเป็นบทละครพูดคำฉันท์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จเพราะมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชกุศลเพื่อสร้าง ตำนานแห่งดอกกุหลาบ จึงทรงผูกเรื่องขึ้นมาใหม่หมด ทรงให้ความสำคัญเรื่องความถูกต้อง และความสมจริงในรายละเอียดของเรื่อง ทั้งชื่อเรื่อง ชื่อตัวเอก และรายละเอียดต่างๆ เช่น ชื่อเรื่อง มัทนา มาจากศัพท์ มทน แปลว่า ความลุ่มหลงหรือความรัก และชื่อนางเอกของเรื่องก็มีความหมายว่าความเจ็บปวดและความเดือดร้อนเพราะความรัก ซึ่งตรงกับแก่นของเรื่อง
ลักษณะการประพันธ์
แต่งด้วยคำฉันท์ ที่ประกอบไปด้วยฉันท์และกาพย์ โดยที่ในตอนดำเนินเรื่องยาว ๆ จะใช้กาพย์ แต่ถ้าเน้นอารมณ์ตัวละคร เช่น คร่ำครวญหรือไหว้ครูก็จะใช้ฉันท์ แต่ในตอนที่ดำเนินเรื่องรวดเร็วก็จะใช้ร้อยแก้ว
เรื่องย่อ มัทนะพาธา
เป็นเรื่องสมมติว่าเกิดในอินเดียโบราณ เนื้อเรื่องแบ่งออกเป็นภาคสวรรค์และภาคพื้นโลกมนุษย์ เริ่มจากภาคสวรรค์ เทพบุตรสุเทษณ์หลงรักเทพธิดามัทนา แต่นางไม่รับรัก สุเทษณ์จึงขอให้วิทยาธรมายาวินใช้เวทมนตร์สะกดเรียกนางมา แต่ผลคือนางมัทนาเหม่อลอยอยู่ในมนต์ สุเทษณ์จึงขอให้มายาวินคลายมนต์ เมื่อได้สติแล้วนางมัทนาจึงปฏิเสธรัก สุเทษณ์โกรธจึงสาปให้นางมัทนาลงไปเกิดเป็นมนุษย์
นางมัทนาขอให้ตัวเองได้ไปเกิดเป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม สุเทษณ์จึงให้นางไปเกิดเป็นดอกกุหลาบ เป็นดอกไม้ที่งามทั้งกลิ่นและรูป แต่มีเฉพาะแค่ในสวรรค์ยังไม่เคยมีบนโลกมาก่อน โดยที่ดอกกุหลาบนั้นจะกลายเป็นมนุษย์แค่ 1 วัน 1 คืน ในวันเพ็ญของแต่ละเดือนเท่านั้น และนางจะพ้นสภาพจากการเป็นกุหลาบก็ต่อเมื่อนางมีความรัก แต่นางจะได้รับความทนทุกข์จากความรัก เมื่อถึงเวลานั้น ให้นางมาอ้อนวอนขอความช่วยเหลือกับเทพบุตรสุเทษณ์
นางมัทนาไปจุติเป็นกุหลาบในป่าหิมะวัน ฤษีกาละทรรศินจึงขุดไปปลูกในบริเวณอาศรมของตน ขณะทำการขุดก็ได้ยินเสียงผู้หญิงร้อง จึงรู้ว่าเป็นเทพธิดามาจุติ จึงเชิญนางมัทนาและสัญญาว่าจะปกป้องดูแล จึงทำการย้ายได้สำเร็จ หลังจากนั้นในคืนวันเพ็ญ ท้าวชัยเสนได้เสด็จออกล่าป่าและแวะมาพักที่อาศรมของฤษี เมื่อได้พบกับนางมัทนาที่แปลงร่างเป็นคนในคืนวันเพ้ญพอดีก็ตกหลุมรัก นางมัทนาก็มีใจเสน่หาต่อท้าวชัยเสนด้วยกัน ทั้งสองสาบานรักต่อกันทำให้นางมัทนาไม่ต้องกลับไปเป็นดอกไม้อีก
นางมัทนาตามท้าวชัยเสนกลับเมือง ทำให้นางจัณฑีผู้เป็นมเหสีโกรธมากจึงวางแผนใส่ร้ายว่านางเป็นชู้กับศุภางค์ผู้เป็นแม่ทัพ ท้าวชัยเสนเมื่อได้ยินข่าวก็เข้าใจผิด จึงสั่งประหารชีวิตทั้งคู่ แต่ทหารที่ได้รับคำสั่งมาประหารกลับรู้สึกสงสารนางจึงปล่อยไป นางมัทนากลับมายังป่าหิมะวันด้วยความโศกเศร้า จึงอ้อนวอนต่อเทพบุตรสุเทษณ์ให้มาช่วย เมื่อสุเทษณ์ลงมาก็ยื่นข้อเสนอให้นางมาเป็นคนรักเพื่อที่จะพากลับขึ้นไปบนสวรรค์ แต่นางมัทนายังคงปฏิเสธไม่รับรักอยู่ สุเทษณ์จึงโกรธและสาปให้นางมัทนากลายเป็นกุหลาบไปตลอดกาล ฝ่ายท้าวชัยเสนเมื่อเสร็จจากศึกสงครามก็เพิ่งรู้ความจริงว่านางมัทนาโดนใส่ร้ายจึงออกตามหา ก่อนจะพบว่านางได้กลายเป็นกุหลาบไปแล้ว จึงสั่งให้คนนำมาปลูกไว้ที่เมืองและดูแลไม่ให้ดอกไม้นี้สูญพันธุ์มาจนถึงทุกวันนี้
สรุปเนื้อเรื่อง
วรรณคดีอันทรงคุณค่าเรื่องนี้ได้สะท้อนเรื่องราวความรักในหลาย ๆ แง่มุม ทำให้เราได้เห็นโทษของการรักมากเกินไปมากขึ้นทำให้เกิดความทุกข์ เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น น้อง ๆ จะได้เรียนรู้ตัวบทและคุณค่าของเรื่องนี้ในบทต่อไปค่ะ สำหรับบทเรียนในวันนี้น้อง ๆ สามารถตามดูการสอนของครูอุ้มได้ รับรองว่าจะสามารถจดจำเนื้อเรื่องของวรรณคดีได้อย่างครบถ้วน ไม่พลาดในการทำข้อสอบแน่นอนค่ะ
อย่าพลาดการติดตามบทความภาษาไทยจาก nockacademy