การสร้างจินตภาพอย่างการใช้ โวหารภาพพจน์ เป็นกลวิธีในการใช้ภาษาอีกอย่างหนึ่ง เลือกใช้ถ้อยคำเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพ หรืออาจเรียกว่าเป็นการแทนภาพนั่นเอง น้อง ๆ คงจะพบเรื่องของโวหารภาพพจน์ได้บ่อย ๆ เวลาเรียนเรื่องวรรณคดี บทเรียนในวันนี้เลยจะพาไปทำความรู้จักกับภาพพจน์ต่าง ๆ ให้มากขึ้นว่ามีอะไรบ้าง ถ้าพร้อมแล้วไปดูพร้อมกันเลยค่ะ
ความหมายของภาพพจน์
ภาพพจน์ คือถ้อยคำที่เป็นสำนวนโวหารทำให้นึกเห็นภาพ ถ้อยคำที่เรียบเรียงอย่างมีชั้นเชิงเป็นโวหาร มีเจตนาให้มีประสิทธิผลต่อความคิด เป็นกลวิธีทางภาษาที่มุ่งให้เกิดความรู้ความเข้าใจจินตนาการ เน้นให้เกิดอรรถรสและสุนทรีย์ในการสื่อสารที่ลึกซึ้งกว่าการบอกเล่าแบบตรงไปตรงมา
โวหารภาพพจน์
1. อุปมา เป็นการเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งว่าเหมือนสิ่งหนึ่ง สังเกตได้จากการใช้คำที่มีความหมายว่า “เปรียบเหมือน” เช่น ดุจ ดัง ดั่ง เช่น เหมือน ดูราว ประหนึ่ง ราวกับ คล้าย เป็นต้น
ตัวอย่าง
ทนต์แดงดั่งแสงทับทิม เพริศพริ้มเพรารับกับขนง
จากบทประพันธ์ อิเหนากล่าวชมรูปโฉมของวิหยาสะกำที่ถูกสังคามาระตาสังหารว่าเป็นชายหนุ่มรูปงาม ฟันนั้นเป็นแสงแวววาวสีแดงราวกับแสงของทับทิม ซึ่งตัดรับกับคิ้ว
ข้อสังเกตเกี่ยวกับอุปมา
อุปมาจะต้องเป็นการแสดงการเปรียบเหมือนเท่านั้น ถ้ามีความหมาย เหมือนจริง จะไม่ใช่อุปมา
คำว่า ดัง จะต้องหมายถึงเปรียบเหมือน แต่ถ้าเป็น ดัง ที่หมายถึง เสียงดัง เช่น เสียงดังไปทั่วโลก จะไม่ใช่การอุปมา
2. อุปลักษณ์ การเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง เป็นของสิ่งเดียวกันหรือเท่ากันทุกประการ อุปลักษณ์ต้องมีความหมายถึง เปรียบเป็น เท่านั้น ถ้าแสดงสภาพความเป็นจริงจะไม่ใช่การอุปลักษณ์ เช่น ความรู้คืออาวุธที่ดีที่สุด ไฟโทสะ พิณฟ้าณราตรี ธรณีสุโนกเนา (เปรียบเสียงนกร้องว่าเป็นพิณฟ้า)
3. บุคคลวัต หรือ บุคลาธิฐาน คือ การสมมติให้สิ่งต่าง ๆ ที่ไม่มีชีวิต แสดงกิริยาอาการเหมือนมนุษย์ สามารถแสดงอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดได้
จากบทประพันธ์ สามารถถอดความได้ว่า ที่นอนหมอนม่านมุ้งและเตียงของนาง ช่วยเตือนให้นางนอนอยู่แต่บนที่นอนของนางเท่านั้นเถิด ถ้าเกิดนางคิดจะออกไปจากม่านที่กั้นไว้ ขอให้ม่านอย่าเปิด จงช่วยปิดบังห้องไว้ให้นางรออยู่แต่ในที่ของนาง เป็นการสมมติให้สิ่งของภายในห้องนอนมีความรู้สึกนึกคิดเหมือนคน สามารถเตือนได้ หรือเปิดปิดด้วยตัวเองได้
4. อติพจน์ คือ การกล่าวเกินจริง เป็นการบรรยายให้เห็นเด่นชัดในสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากกว่าความเป็นจริง โดยจะเน้นที่อารมณ์ความรู้สึกมากกว่าถ้อยคำ
จากบทประพันธ์สามารถถอดคำประพันธ์ได้ว่า สุนทรภู่ขอให้รัชกาลที่ 3 อายุยืนหมื่นๆ ปีดังเสาศิลา อยู่คู่ฟ้าดินได้ตลอดไป ซึ่งอายุคนกับหินนั้นไม่มีทางที่จะเท่ากันได้แต่เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อราชวงศ์ให้อยู่คู่บ้านเมืองไปนาน ๆ
5. อวพจน์ คือ การกล่าวน้อยกว่าความจริง คล้ายกับอติพจน์ แต่จะเฉพาะเจาะจงแค่ที่มีความหมายน้อยเกินจริงเท่านั้น
ตัวอย่าง
(สำนวนไทยป มีทองเท่าหนวดกุ้ง นอนสะดุ้งจนเรือนไหว หมายถึง มีสมบัติเพียงเล็กน้อยแต่กังวลจนนอนไม่หลับ โดยคำว่า หนวดกุ้ง เป็นการใช้ภาพพจน์ให้เห็นว่ามีน้อยมาก
6. ปฏิพากย์ คือ การนำเอาคำและความหมายที่ไม่สอดคล้องกันและดูเหมือนจะขัดแย้งกันมารวมไว้ด้วยกันเพื่อให้เกิดผลการสื่อสารเป็นพิเศษ เช่น น้ำผึ้งขม สวรรค์บนดิน ยิ่งรีบยิ่งช้า เป็นต้น
7. สัทพจน์ คือ ภาพพจน์ ที่ใช้การเลียนเสียงแสดงถึงลักษณะอาการต่าง ๆ อาจเป็นการเลียนเสียงธรรมชาติ เสียงสัตว์ร้อง เสียงเครื่องดนตรี เครื่องใช้ ทำให้ผู้อ่านเหมือนได้ยินเสียงของสิ่งนั้น ๆ
จากบทประพันธ์ที่ยกตัวอย่างมาก คำว่า ขวาบเขวียว ในเรื่องกาพย์พระไชยสุริยา เลียนเสียงไม้เรียวเวลาตี ส่วนคำว่า ครื้น ในนิราศนรินทร์คำโคลง เป็นเลียนเสียงคลื่นของมหาสมุทร
8. สัญลักษณ์ คือ การเอาสิ่งที่เป็นรูปธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งแทนสิ่งที่เป็นนามธรรม ทำให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกขึ้นโดยไม่ต้องอธิบาย
จากบทประพันธ์ สามารถถอดความได้ว่า เมื่อชมจันทร์ก็รู้ทันทีว่าไม่ใช่หน้านางเพราะดวงเดือนมีรูปกระต่ายเป้นตำหนิผิดกับดวงหน้าของนางที่งานผุดผ่องดั่งเดือนเต็มดวงไร้รอยตำหนิ ในบทประพันธ์นี้ใช้ แทนภาพให้พระจันทร์เป็นสัญลักษณ์แทนความงามของหญิงสาว โดยคำว่า แข เดือน ในบทประพันธ์ เป็นคำที่หมายถึง พระจันทร์
9. นามนัย คือ การใช้คำหรือวลีที่บ่งลักษณะหรือคุณสมบัติของสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาแสดงความหมายแทนสิ่งนั้นทั้งหมด
ตัวอย่าง
ว่านครรามินทร์ ผลัดแผ่นดินเปลี่ยนราช เยียววิวาทชิงฉัตร
(ลิลิตตะเลงพ่าย)
จากบทประพันธ์ คำว่าฉัตร หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ หรือความเป็นกษัตริย์
สัญลักษณ์กับนามนัย ต่างกันอย่างไร?
นามนัยนั้นจะดึงเอาลักษณะบางส่วนของสิ่งหนึ่งมากล่าวให้หมายถึงส่วนทั้งหมด เช่น จอแก้ว มาจากจอของโทรทัศน์ แต่สัญลักษณ์จะเป็นการนำคำมาแทน โดยที่คำนั้นจะต้องมีความหมายรับรู้กันโดยทั่วไป เช่น นกพิราบ แทน สันติภาพ
10. ปฏิปุจฉา คือ การใช้ภาพพจน์เพื่อกระตุ้นความคิดของผู้อ่าน เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ
จากบทประพันธ์ สามารถถอดความได้ว่า ความรักเหมือนสายน้ำ เมื่อไหลไปแล้ว สายน้ำก็ไม่สามารถย้อนกลับคืนได้ โดยตั้งคำถามว่า จะมีสายน้ำที่ไหนไหลย้อนกลับ โดยไม่ได้หวังให้มีคำตอบ
เป็นอย่างไรบ้างคะ ได้ความรู้เรื่องหลักภาษาเพิ่มเติม โวหารภาพพจน์ เป็นเรื่องที่น้อง ๆ หลายคนคงคุ้นเคยเวลาเรียนวรรณคดีไทย บทประพันธ์บางเรื่องบางตอนที่ยกตัวอย่างมากก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่อยู่ในบทเรียนภาษาไทย ส่วนเรื่องที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เรียนในอนาคตแน่นอนค่ะ และเพื่อเป็นการฝึกวิเคราะห์โจทย์ว่าเป็นภาพพจน์แบบใด โดยการตามไปดูคลิปการสอนเรื่องภาพพจน์ของครูอุ้มได้เลยค่ะ
อย่าพลาดการติดตามบทความภาษาไทยจาก nockacademy