บทนำ
สวัสดีน้อง ๆ ที่น่ารักทุกคนกลับมาเข้าสู่เนื้อหาการเรียนภาษาไทยกันอีกเช่นเคย สำหรับวันนี้จะเป็นบทเรียนที่ทั้งสนุก มีสาระ และเป็นเนื้อหาที่เราต้องได้เจอบ่อย ๆ ในการเรียนภาษาไทยอย่างเรื่องสำนวน สุภาษิต และคำพังเพย น้อง ๆ อาจจะเคยได้ผ่านหูผ่านตากันมาบ้างเพราะเป็นบทเรียนที่ได้เริ่มเรียนตั้งแต่ช่วงประถมศึกษาแล้ว แต่วันนี้เราจะมาเรียนรู้ในเชิงลึกขึ้นไปอีกเกี่ยวกับวิธีการสังเกตระหว่างสำนวน สุภาษิต และคำพังเพยนั้นมีความเหมือน หรือแตกต่างกันอย่างไร มีตัวอย่างประกอบให้ทุกคนได้ดูด้วย ถ้าน้อง ๆ คนไหนพร้อมแล้วก็ไปลุยกับเนื้อหาของวันนี้ได้เลย
สำนวน
สำนวน คือ คําพูด หรือถ้อยคําที่ค่อนข้างกระชับ ฟังแล้วไพเราะ คมคาย มักจะให้ความหมายแฝงที่ค่อนข้างลึกซึ้ง ไม่ได้แปลความหมายตรงตามตัวอักษร อาจต้องใช้การวิเคราะห์ตีความจึงจะเข้าใจ
สุภาษิต
สุภาษิต คือ คติสอนใจที่ให้ลักษณะคล้ายกับสำนวน แต่จะมีจุดมุ่งหมายเพื่อการสั่งสอน หรือให้ข้อคิด เน้นการแสดงหลักความจริงของคน และสังคมอย่างเป็นเหตุเป็นผล ส่วนใหญ่เรามักจะเข้าใจความหมายไปในทางสัจธรรม หรือความจริงที่อ้างอิงเรื่องศาสนาด้วย
คำพังเพย
คำพังเพย คือ สำนวน หรือถ้อยคําที่มีการเปรียบเทียบเรื่องราว หรือเหตุการณ์ โดยอ้างอิงจากวิถีชีวิต การดํารงชีวิตของคนรุ่นก่อน ส่วนใหญ่จะให้ความหมายที่เป็นไปในทางเสียดสีสังคม ให้ความรู้สึกประชดประชัน เพื่อสะท้อนความคิด เป็นข้อเตือน และสะกิดใจให้เราได้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตัวตามทำนองคลองธรรม
ข้อสังเกต
จากการที่น้อง ๆ ได้เรียนรู้ความหมายของทั้ง 3 คำนี้แล้วน้อง ๆ จะสังเกตว่าวิธีจำแนกนั้นหลัก ๆ แล้วเราต้องดูความหมาย และการเปรียบเปรยของคำเหล่านี้ เช่น
ตัวอย่างสำนวน
- ขวานผ่าซาก
เป็นสำนวนที่ใช้เปรียบเทียบกับคนพูดจาโผงผาง พูดตรงไปตรงมาจนเกินเหตุ โดยไม่ได้ดูกาลเทศะ หรือพูดทำร้ายจิตใจผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นรู้สึกไม่ดี เปรียบเหมือนขวานที่ผ่าลงไปกลางซากไม้ที่ผุพังมีแต่จะทำให้เนื้อไม้แตกออกจากกันนำไปใช้ประโยชน์อันใดไม่ได้
ตัวอย่างสถานการณ์: มะลิเป็นคนหน้าตาน่ารัก และเรียนเก่งมาก แต่เพราะเธอมักจะพูดจาแบบขวานผ่าซากจึงทำให้เพื่อนไม่กล้าเล่นกับเธอ
- ถ่านไฟเก่า
เป็นการเปรียบเทียบคนสองคนที่เคยรัก หรือผูกพันกันมาก ๆ ถึงมีเหตุให้ต้องเลิกรากันไปแต่เมื่อได้มาพบเจอกันก็ยังคงเกิดความรู้สึกผูกพัน เป็นห่วงเป็นใยกันอยู่ จนอาจถึงขั้นกลับมาคบหากันได้เหมือนเดิม เปรียบเหมือนกับถ่านไฟที่เคยใช้งานถึงมอดดับลงแล้วแต่ถ้าหากได้รับเชื้อไฟอีกครั้งก็จะติดไฟได้ง่าย
สถานการณ์ตัวอย่าง: ถึงเขาทั้งสองคนจะเลิกกันไปได้เกือบปีแล้ว แต่ฉันก็หวังว่าพวกเขาจะกลับมาคบกันอีกครั้ง เพราะถึงยังไงถ่านไฟเก่ามันก็ยังร้อนรอวันรื้อฟื้นได้
- ม้าดีดกะโหลก
เปรียบกับคนที่มีกิริยาท่าทางไม่เรียบร้อย สง่างาม ดูกระโดกกระเดก มักจะใช้กับผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะเปรียบท่าทางของผู้หญิงที่ไม่เรียบร้อยว่าเหมือนม้าเวลาที่มันพยศ หรือเกรี้ยวกราดก็จะทำท่าทาง โขยกเขยก ไม่ยอมอยู่นิ่ง ๆ
สถานการณ์ตัวอย่าง: ลูกสาวของฉันคนนี้นอกจากจะพูดจาไม่รู้จักกาลเทศะแล้ว ก็ยังชอบทำตัวเป็นม้าดีดกะโหลก ทำให้ฉันเหนื่อยใจอยู่เรื่อยเลย
ตัวอย่างสุภาษิต
- ตัดไฟแต่ต้นลม
หมายถึง การที่เรารู้ว่าสาเหตุของปัญหาคืออะไรแล้วรีบจัดการแก้ไขมันก่อนที่จะบานปลายกลายเป็นปัญหาใหญ่ในวันข้างหน้า เปรียบเหมือนกับการที่เรารีบดับไฟบริเวณต้นทางของลม ก่อนที่ลมนั้นจะพัดพาไฟไปลุกลามที่อื่นอย่างรวดเร็ว จะได้ไม่เกิดความเสียหายที่ร้ายแรงขึ้น
- ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
หมายถึง กระทำสิ่งที่ไม่ดี ย่อมได้สิ่งไม่ดีนั้นตอบสนอง ในทางตรงกันข้าม หากทำแต่สิ่งที่ดี สิ่งดีนั้นย่อมตอบสนองเช่นกัน
- จงเอาเยี่ยงกา แต่อย่าเอาอย่างกา
หมายถึง ควรเอาแบบอย่างในสิ่งที่ดีเท่านั้น สิ่งที่ไม่ดีก็ไม่ควรทำตาม เหมือนกามีความขยันตื่นแต่เช้าเพื่อไปหาอาหาร เป็นคุณลักษณะที่มนุษย์ควรถือเป็นแบบอย่าง แต่ในทางที่ไม่ควรเอาแบบอย่างก็คือ กามีนิสัยขี้ขโมย
ตัวอย่างคำพังเพย
- วัวหายล้อมคอก
หมายถึง การที่เราปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง หรือเกิดเรื่องขึ้นก่อน แล้วจึงค่อยหาหนทางแก้ไข ไม่ต่างอะไรจากการที่เราปล่อยให้วัวหายไปก่อน แล้วจึงค่อยมาทำคอกล้อมไว้ทีหลัง ซึ่งไม่ได้ช่วยให้เกิดประโยชน์อะไรเลย
- ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
หมายถึง การที่เราลงทุนทำอะไรที่ไม่ได้เกิดผลกับตัวเองเลย อย่างเช่นการใช้จ่ายเงินในทางที่ไม่เกิดประโยชน์ ลงทุนมากแต่ไม่ได้อะไรกลับมาเลย เปรียบเหมือนกับการที่เราตำน้ำพริกแล้วนำไปละลายในแม่น้ำที่กว้างใหญ่ก็ไม่เกิดรสชาติใด มีแต่จะเจือจางหายไปตามสายน้ำโดยเปล่าประโยชน์
- งมเข็มในมหาสมุทร
หมายถึง การทำบางสิ่งที่ยากเกินกว่ากำลัง หรือความสามารถของเราจะทำได้ การมองหาสิ่งเล็ก ๆ ที่อยู่ท่ามกลางพื้นที่อันกว้างใหญ่เกินกว่าจะค้นพบ เปรียบเหมือนการงมหาเข็มเล็ก ๆ ในมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ ซึ่งมันยากที่เราจะหาเจอ
บทส่งท้าย
เป็นอย่างไรกันบ้าง หลังจากที่ทุกคนได้เรียนเนื้อหาของวันนี้กันแล้วช่วยให้น้อง ๆ สามารถจำแนกแยกแยะสำนวน สุภาษิต และคำพังเพยได้ง่ายขึ้นหรือเปล่า ถือได้ว่ากลุ่มคำเหล่านี้เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของภาษาไทยเลยก็ว่าได้ เพราะจะเห็นได้ว่ามีการใช้ภาษาเปรียบเปรยที่ไพเราะ และคมคายมาก ๆ ต้องใช้การตีความเพื่อให้เข้าใจความหมายที่ลึกซึ้ง เป็นการเสียดสีติชมที่ไม่ได้ใช้ถ้อยคำรุนแรงแต่ก็รู้สึกสะกิดใจ ได้ข้อคิดที่ดีในการปฏิบัติตัวทั้งต่อตนเอง และต่อผู้อื่นด้วย หวังว่าน้อง ๆ จะชื่นชอบเนื้อหาที่เรานำมาฝากในวันนี้ ส่วนใครที่อยากจะเรียนเรื่องนี้เพิ่มเติมอีกสามารถเข้าไปดูคลิปการสอนของครูอุ้มด้านล่างนี้ได้เลย รับรองว่าทั้งสนุก และมีสาระมาก ๆ