เชื่อว่าน้อง ๆ หลายคงเคยสงสัยเรื่องการออกเสียงพยัญชนะไทยกันไม่มากก็น้อย เพราะพยัญชนะในภาษาไทยของเรานั้นมีด้วยกัน 44 ตัว แต่กลับมีหน่วยเสียงเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น ทำไมการออกเสียงพยัญชนะไทยถึงไม่สามารถออกเสียงตามรูปอักษรทั้ง 44 รูปได้? ไหนจะพยัญชนะท้ายที่เขียนอีกอย่างแต่ดันออกเสียงไปอีกอย่าง บทเรียนในวันนี้จะช่วยไขข้อข้องใจให้กับน้อง ๆ หรือคนที่กำลังสับสนเรื่องการออกเสียงพยัญชนะไทย ให้กระจ่างและสามารถออกเสียงได้อย่างถูกต้อง ดังนั้น เราไปเรียนรู้เรื่องนี้พร้อม ๆ กันเลยค่ะ
เสียงพยัญชนะไทย
เสียงพยัญชนะ คือ เสียงที่ถูกเปล่งออกมาจากลำคอและถูกปิดกั้นลมด้วยอวัยวะต่าง ๆ ภายในช่องปากทำให้เสียงที่เปล่งออกมามีความแตกต่างกัน โดยเสียงพยัญชนะในภาษาไทยแบ่งออกเป็นพยัญชนะต้นและพยัญชนะท้าย ทั้งสองประเภทนี้จะมีความแตกต่างกันอย่างไรเรามาค่อย ๆ ไล่ดูกันนะคะ
เสียงพยัญชนะต้น
เสียงพยัญชนะต้น คือ หน่วยเสียงที่ปรากฏอยู่ต้นพยางค์ สามารถแบ่งออกมาได้อีก 2 ชนิดคือ พยัญชนะต้นเดี่ยวและพยัญชนะต้นประสม
เสียงพยัญชนะต้นเดี่ยว
เสียงพยัญชนะต้นเดี่ยว คือ หน่วยเสียงของรูปเสียงพยัญชนะไทย 44 รูป โดยมีทั้งหมด 21 หน่วยเสียง และเหตุที่พยัญชนะต้นเดียวมีหน่วยเสียงน้อยกว่าจำนวนพยัญชนะไทยทั้งหมดก็เพราะว่าพยัญชนะไทยบางตัว แม้จะเขียนต่างกัน แต่มีการออกเสียงเหมือนกันนั่นเองค่ะ พยัญชนะตัวไหนที่ออกเสียงเหมือนกันสามารถดูได้ตามตารางข้างล่างนี้เลย
ตัวอย่าง
ดินสอ เสียงพยัญชนะต้นคือ /ด/
ศาลา เสียงพยัญชนะต้นคือ /ซ/
โคมไฟ เสียงพยัญชนะต้นคือ /ค/
ลูกแก้ว เสียงพยัญชนะต้นคือ /ล/
ห่วงยาง เสียงพยัญชนะต้นคือ /ฮ/
ข้อควรจำ
เสียงพยัญชนะนาสิก : คือเสียงที่เปล่งออกมาแล้วลมส่วนหนึ่งถูกกักในช่องปากแต่ไม่ถูกปิดกั้นทางช่องจมูกทำให้ลมส่วนหนึ่งถูกปล่อยออกมาผ่านช่องจมูกได้ โดยพยัญชนะต้นเดี่ยวที่อยู่ในกลุ่มเสียงพยัญชนะนาสิกมีด้วยกัน 3 เสียง ได้แก่
เสียง /ง/ ฐานที่เกิดของเสียงคือ เพดานอ่อน
เสียง /ม/ ฐานที่เกิดของเสียงคือ ริมฝีปาก
เสียง /น/ ฐานที่เกิดของเสียงคือ ปุ่มเหงือก
เสียงพยัญชนะต้นประสม
เสียงพยัญชนะต้นประสม เป็นหน่วยเสียงที่มีพยัญชนะต้น 2 การออกเสียงจะต้องออกให้เป็นพยางค์เดียว ซึ่งเสียงควบกล้ำก็มีทั้งควบกล้ำและไม่แท้ เรามาดูที่คำควบกล้ำแท้ก่อนเลยค่ะ
เสียงควบกล้ำแท้
เสียงพยัญชนะไทยนั้น เมื่อมีพยัญชนะสองตัวที่อยู่ในตำแหน่งต้นพยางค์ เมื่ออ่านออกเสียงแล้วจะต้องอ่านเป็นพยางค์เดียวกัน โดยในคำควบกล้ำแท้จะเป็นการควบระหว่างตัวอักษร ก, ข, ค, ต, พ, ผ, ป, ท กับ ร, ล, ว เมื่อจับคู่แล้วจะได้พยัญชนะควบกล้ำดังนี้ค่ะ
ตัวอย่าง
เกรง เสียงพยัญชนะต้นคือ /กร/
กลัว เสียงพยัญชนะต้นคือ /กล/
กวาด เสียงพยัญชนะต้นคือ /กว/
ขรึม เสียงพยัญชนะต้นคือ /ขร/
เขลา เสียงพยัญชนะต้นคือ /ขล/
ขวัญ เสียงพยัญชนะต้นคือ /ขว/
ครีม เสียงพยัญชนะต้นคือ /คร/
เคลิ้ม เสียงพยัญชนะต้นคือ /คล/
แคว้น เสียงพยัญชนะต้นคือ /ครว
เตรียม เสียงพยัญชนะต้นคือ /ตร/
พริก เสียงพยัญชนะต้นคือ /พร/
พลอย เสียงพยัญชนะต้นคือ /พล/
เผลอ เสียงพยัญชนะต้นคือ /ผล
ปราบ เสียงพยัญชนะต้นคือ /ปร/
ปลูก เสียงพยัญชนะต้นคือ /ปล/
นิทรา คำว่า ทรา เสียงพยัญชนะต้นคือ /ทร/
นอกจากนี้ยังมีเสียงพยัญชนะควบกล้ำที่ได้รับอิทธิพลมาจากคำในภาษาต่างประเทศอีก 5 เสียง ดังรูปข้างล่างนี้เลยค่ะ
ตัวอย่าง
เบรก เสียงพยัญชนะต้นคือ /บร/
บล็อก เสียงพยัญชนะต้นคือ /บล/
ดรีม เสียงพยัญชนะต้นคือ /ดร/
ฟรี เสียงพยัญชนะต้นคือ /ฟร/
ฟลูออไรด์ เสียงพยัญชนะต้นคือ /ฟล/
เสียงควบกล้ำไม่แท้
คือคำที่มีตัว ร ควบอยู่ แต่ออกเสียงเหมือนพยัญชนะเดี่ยว จะออกเสียงเพียงพยัญชนะตัวหน้าเท่านั้น เช่นคำว่า จริง เสียงต้นพยัญชนะคือ /จ/
ข้อควรระวังเกี่ยวกับการออกเสียงพยัญชนะต้น
คำบางคำที่แม้จะเป็นว่าขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ 2 ตัว แต่ก็ไม่ได้ออกเสียงเป็นคำควบกล้ำเสมอไป จึงไม่จัดเป็นพยัญชนะต้นประสม ดังนี้
- /ทร/ เป็นคำควบกล้ำที่ออกเสียงเหมือนพยัญชนะเดี่ยว คือเสียง /ซ/
เช่น ทรุดโทรม อ่านออกเสียงเป็น /ซ/ พยัญชนะต้นคือ /ซ/
- อักษรนำ คือ คำที่ อ หรือ ห นำตัวอักษรต่ำเดี่ยว ได้แก่ /อย/ /หม/ และ /หน/
เช่น อยาก อ่านออกเสียงเป็น /ย/ พยัญชนะต้นคือ /ย/
หรือคำว่า หนี อ่านออกเสียงเป็น /น/ พยัญชนะต้นคือ /น/
หลังจากที่ได้เรียนรู้พยัญชนะต้นเไปแล้ว เรามาดูเรื่องพยัญชนะท้ายกันบ้างค่ะ
เสียงพยัญชนะท้าย
พยัญชนะท้าย หรือ หน่วยเสียงพยัญชนะตัวสะกด ในภาษาไทยมีทั้งหมด 8 เสียงด้วยกันค่ะ
ตัวอย่าง
สุนัข เสียงพยัญชนะท้ายคือ /ก/ หรือ แม่กก
อำนาจ เสียงพยัญชนะท้ายคือ /ด/ หรือ แม่กด
สุภาพ เสียงพยัญชนะท้ายคือ /บ/ หรือ แม่กบ
สีแดง เสียงพยัญชนะท้ายคือ /ง/ หรือ แม่กง
บริเวณ เสียงพยัญชนะท้ายคือ /น/ หรือ แม่กน
นม เสียงพยัญชนะท้ายคือ /ม/ หรือ แม่กม
เปื่อย เสียงพยัญชนะท้ายคือ /ย/ หรือ แม่เกย
กลัว เสียงพยัญชนะท้ายคือ /ว/ หรือ แม่เกอว
ข้อควรระวังเกี่ยวกับการออกเสียงพยัญชนะท้าย
คำบางคำที่แม้ว่าจะไม่มีพยัญชนะต่อท้ายแต่ก็มีเสียงพยัญชนะรวมอยู่ในสระแล้ว ได้แก่
อำ มาจาก อะ+ม
ไอ ใอ อัย มาจาก อะ + ย
เอา มาจาก อะ + ว
ถ้าไม่สังเกตให้ดีอาจจะทำให้สับสนและเข้าใจว่าไม่มีพยัญชนะท้ายได้ค่ะ
ตัวอย่างพยัญชนะท้ายที่เสียงพยัญชนะรวมอยู่ในสระ
ระกำ เสียงพยัญชนะท้ายคือ /ม/ หรือ แม่กม
ผ้าใบ เสียงพยัญชนะคือ /ย/ หรือ แม่เกย
ภูเขา เสียงพยัญชนะท้ายคือ /ว/ หรือ แม่เกอว
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้คงช่วยให้น้อง ๆ หลายคนเริ่มเข้าใจการออกเสียงพยัญชนะไทยกันมากขึ้นแล้วใช่ไหมคะ จะเห็นได้ว่าการออกเสียงพยัญชนะไทยนั้นแม้จะดูซับซ้อนแต่ก็ไม่ยากเกินที่จะทำความเข้าใจเลย สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่อยากฟังคำอธิบายและดูตัวอย่างแบบฝึกหัดเพื่อให้เข้าใจมากขึ้นก็สามารถตามไปดูคลิปการสอนของครูอุ้มได้ที่คลิปข้างล่างนี้เลยค่ะ