หลังจากครั้งที่แล้ว ที่เราได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมา ลักษณะคำประพันธ์ และตัวบทที่สำคัญในเรื่องกันแล้ว ครั้งนี้เรื่องที่น้อง ๆ จะได้เรียนรู้ต่อไปก็คือคุณค่าที่อยู่ใน อิศรญาณภาษิต นั่นเองค่ะ อย่างที่รู้กันว่าวรรณคดีเรื่องนี้อัดแน่นไปด้วยคำสอนและข้อคิดเตือนใจต่าง ๆ มากมาย เพราะงั้นเราไปเรียนรู้กันให้ลึกขึ้นดีกว่านะคะว่าคุณค่าในเรื่องนี้จะมีด้านใดบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ
คุณค่าในเรื่องอิศรญาณภาษิต
คุณค่าด้านเนื้อหา
อิศรญาณภาษิต มีเนื้อหาที่เป็นคำสอน ข้อคิดเตือนใจ เพื่อให้คนในสังคมได้ตระหนักถึงการกระทำของตน ว่าทำอย่างไรจึงจะอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเป็นปกติสุขได้ เป็นเทศนาโวหารที่มีทั้งการประชดประชัน เสียดสี และบอกอย่างตรงไปตรงมา
ตัวอย่างสุภาษิตที่ปรากฏในเรื่อง
ในอิศรญาณภาษิตแต่ละบท ไม่ได้สอนเพียงแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ยังสอดแทรกคำสอนอย่างพวกสุภาษิตไว้ด้วย น้อง ๆ อ่านแล้วดูออกเลยไหมคะว่ามีสุภาษิตอะไรบ้างที่ซ่อนอยู่ในบทต่าง ๆ ถ้าดูไม่ออกเราไปดูตัวอย่างกันเลยค่ะ
ฆ่าควายเสียดายพริก หมายถึง ทำการใหญ่ไม่ควรตระหนี่
ปลาหมอแตกเหงือก หมายถึง กระเสือกกระสนดิ้นรน
คุณค่าด้านวรรณศิลป์
อิศรญาณภาษิตมีความโดดเด่นในด้านการใช้ภาษาที่คมคาย อ่านแล้วต้องตีความ แต่ก็ยังมีวรรณศิลป์ในบทประพันธ์ด้านการใช้โวหารเพื่อการเปรียบเทียบ และมีการใช้สำนวน เช่น การเลือกใช้สำนวน ชายข้าวเปลือกหญิงข้าวสาร เป็นสำนวนโบราณที่สอนเรื่องรักนวลสงวนตัวโดยใช้คำเปรียบเปรยง่าย ๆ ว่าผู้ชายเหมือนข้าวเปลือกที่ไม่ว่าจะไปหว่านตรงไหนก็งอกงามได้ แต่ผู้หญิงเหมือนข้าวสารที่ถ้าเอาไปหว่านก็มีแต่จะเสียกับเสีย มีการใช้ความหมายแฝง เช่น คน สามขามีปัญญาไว้หาทัก คนสามขาในที่นี้หมายถึงผู้ที่อาวุโส โดยขาที่สามที่กวีหมายถึงคือไม้เท้าที่ผู้สูงอายุมักจะชอบถือกันนั่นเองค่ะ นอกจากนี้ที่โดดเด่นอีกเรื่องหนึ่งการเล่นเสียง เพื่อให้เกิดสัมผัสคล้องจองภายในวรรค ทำให้บทประพันธ์นี้มีความไพเราะมากยิ่งขึ้น
คุณค่าด้านวัฒนธรรม
ในอิศรญาณภาษิตมีการสอดแทรกข้อคิดเตือนใจต่าง ๆ เกี่ยวกับดำรงชีวิต แน่นอนว่าในคำสอนย่อมสะท้อนภาพสังคมและวัฒนธรรมในสมัยนั้นออกมาได้อย่างชัดเจน ว่าอะไรคือสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในยุคนั้นเห็นว่าเป็นสิ่งสมควร ตัวอย่างเช่น
- ให้ความสำคัญกับผู้อาวุโส สอนให้ทำตามผู้ใหญ่และไม่อกตัญญู
- สอนให้สำรวจจิตใจตัวเองและประมาณตนอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ทำอะไรเกินกำลัง
- สอนให้รู้จักขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้าน
- สอนการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม ควรพึ่งพาอาศัยกัน
- สอนเรื่องการทำบุญทำทานและสะท้อนความเชื่อเรื่องผีสาง
จะเห็นว่าวัฒนธรรมของคนในอดีตจะไม่ได้ต่างกับสมัยปัจจุบันมากนัก เพราะไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ร้อยปี วัฒนธรรมและความเชื่ออันดีงามของไทยก็ยังคงถูกส่งต่อมายังลูกหลานให้สืบต่อไปจากการร่ำเรียนและศึกษาวรรณคดีในสมัยก่อนเพื่อซึมซับและปฏิบัติให้อยู่ในระเบียบสังคม
การนำไปใช้ในชีวิตจริง
อิศรญาณภาษิต เป็นวรรณคดีที่มีคำสอนแสนจะทรงคุณค่า มีข้อคิดที่ลึกซึ้งและเข้าใจได้ไม่ยาก อีกทั้งยังร่วมสมัย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตได้ เพื่อทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่น่าอยู่มากขึ้น
วรรณคดีที่แต่งโดยหม่อมเจ้าอิศรญาณและเป็นที่รู้จักในชื่อเดียวกันนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งวรรณคดีไทยเรื่องที่สำคัญและโดดเด่นอย่างมาก จากบทเรียนที่ผ่านมาเกี่ยวกับวรรณคดีไทย น้อง ๆ จะเห็นได้เลยว่าสำหรับแบบเรียนภาษาไทยของเรานั้นมักจะเลือกเรื่องที่มีคุณค่า มีข้อคิด ร่วมสมัย เรียนแล้วไม่เพียงแต่มีความรู้ด้านภาษาแต่ยังได้แง่คิดดี ๆ อีกด้วย สุดท้ายนี้ เพื่อไม่ให้พลาดความรู้ดี ๆ น้อง ๆ สามารถทบทวนบทเรียนได้ด้วยตัวเองทุกที่ทุกเวลา ในบทที่แล้วเราได้เรียนเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและตัวบทกันไปแล้ว วันนี้เราก็อย่าลืมดูคลิปการสอนของครูอุ้มเพื่อทบทวนบทเรียนเรื่องคุณค่าของวรรณคดีเรื่องนี้กันด้วยนะคะ
อย่าพลาดการติดตามบทความภาษาไทยจาก nockacademy