ในการแต่งบทประพันธ์ประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะบทร้อยกรอง การสรรคำ จะช่วยทำให้บทประพันธ์นั้น ๆ มีความไพเราะมากขึ้น บทเรียนเรื่องการเสริมสร้างความรู้ทางภาษาไทยในวันนี้จะพาน้อง ๆ ไปศึกษาเกี่ยวกับการสรรคำ ว่ามีความหมายและวิธีการเลือกคำมาใช้อย่างได้บ้าง ไปดูกันเลยค่ะ
การสรรคำ ความหมายและความสำคัญ
การสรรคำ คือ การเลือกใช้คำให้สื่อความคิด ความเข้าใจ ความรู้สึก และอารมณ์ได้อย่างงดงาม โดยคำนึงถึงความงามด้านเสียง โวหาร และรูปแบบคำประพันธ์ การสรรคำเป็นกลวิธีทางวรรณศิลป์ที่กวีเลือกสรรคำมาใช้ในการแต่งกวีนิพนธ์ ผู้แต่งมักสรรคำต่าง ๆ มาเรียงร้อยให้เกิดความไพเราะ ให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพและเกิดความรู้สึกคล้อยตา สามารถทำได้ดังนี้
1. เลือกใช้คำให้ถูกต้องตรงตามความหมายที่ต้องการ
2. เลือกใช้คำที่เหมาะสมแก่เนื้อเรื่องและฐานะของบุคคล
3. เลือกใช้คำให้เหมาะสมกับคำประพันธ์ บางคำสามารถใช้ได้ทั้งในร้อยแก้วและร้อยกรอง แต่ก็จะมีบางคำที่ไม่เหมาะกับการนำมาเขียนแบบร้อยแก้ว ส่วนมากจะเป็นคำที่ยากเกินไป บทร้อยแก้วไม่มีกำหนดสัมผัสเหมือนร้อยกรอง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องใช้คำยากเกินความจำเป็น
กลวิธีการสรรคำ
1. การเล่นคำ คือ การนำคำที่มีรูปหรือเสียงพ้องกันหรือใกล้เคียงกันมาเล่น มีหลายวิธี เช่น การเล่นคำพ้อง การเล่นคำหลายความหมาย เป็นต้น
- คำพ้องเสียง ในบทประพันธ์หลายเรื่อง มักใช้การคำพ้องเสียงที่ออกเสียงเหมือนแต่คนละความหมาย ดังตัวอย่างในบทละครเรื่อง รามเกียรติ์ ที่มีการเล่นคำที่ออกเสียงเหมือนกัน “เบญจวรรณจับวัลย์มาลี เหมือนวันเจ้าวอนพี่ให้ตามกวาง” วรรณ วัลย์ และวัน ออกเสียงว่า วัน เหมือนกัน
- คำพ้องรูป เป็นการเล่นคำที่ใช้คำที่เขียนเหมือนกัน แต่มีความหมายแตกต่างกันให้มาอยู่ในวรรคเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่นในนิราศพระบาทของสุนทรภู่ ที่มีการใช้คำว่า รอ ใน 3 ความหมายแต่อ่านออกเสียงเหมือนกัน “เห็นรอหักเหมือนหนึ่งรักพี่รอรา แต่รอท่ารั้งทุกข์มาตามทาง” รอ คำแรก คือ หลักปักกั้นกระแสน้ำ ส่วน รอรา คือหยุด และในคำว่า รอท่า หมายถึง คอย
2. การซ้ำคำ คือ การนำคำคำเดียวมาซ้ำในที่ใกล้กัน เพื่อย้ำความหมาย
3. นาฏการ คือ การใช้คำที่แสดงการเคลื่อนไหวที่สวยงาม
4. คำไวพจน์ คือ คำที่มีความหมายเหมือนกัน ตรงกัน หรือคล้ายกันมาก แต่เขียนและออกเสียงต่างกัน
ในบทประพันธ์นี้มีคำไวพจน์คือคำว่า แก้วตา เยาวมาลย์ นฤมล หมายถึง ผู้หญิง ส่วนคำว่า ดำริ ตริ หมายถึง คิด
นอกจากจะทำให้บทประพันธ์นั้นมีความไพเราะยิ่งขึ้นแล้ว การสรรคำยังเหมือนเป็นเครื่องแสดงถึงคลังความรู้ของผู้แต่งอีกด้วยค่ะ ผู้แต่งที่แต่งวรรณคดีดัง ๆ หลายเรื่องจึงเลือกใช้คำที่สวยงามและไพเราะเพื่อให้เห็นว่ามีคลังคำศัพท์มากมายให้หัว สุดท้ายนี้น้อง ๆ สามารถดูคลิปการสอนของครู้อุ้มย้อนหลังเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการสรรคำให้มากขึ้นได้ ไปดูกันเลยค่ะ
อย่าพลาดการติดตามบทความภาษาไทยจาก nockacademy