จากที่ได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมาและเรื่องย่อของอิเหนากันไปแล้ว บทเรียนภาษาไทยในวันนี้เราจะยังอยู่กับอิเหนากันนะคะ เพราะนอกจากที่มาและเรื่องย่อแล้ว วรรณคดีเรื่องนี้ก็ยังมีเรื่องอื่นให้น่าสนใจและน่าศึกษาเช่นกัน ถ้าพร้อมแล้วเราไปศึกษาตัวบทและคุณค่าที่แฝงอยู่ในเรื่อง อิเหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิง กันเลยค่ะ
ตัวบทเด่น ๆ ในอิเหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิง
บทที่ 1
ถอดความ เป็นตอนที่ท้าวกะหมังกุหนิงให้ราชทูตนำสาส์นไปมอบให้ท้าวดาหาเพื่อสู่ขอบุษบาให้วิหยาสะกำ โดยบทนี้เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งที่ท้าวกะหมังกุหนิงเขียนถึงท้าวดาหา โดยเปรียบว่าตนเป็นเหมือนรองเท้าที่จะอยู่เคียงกับท้าวดาหา ดังนั้นจึงจะขอสู่ขอพระธิดาให้กับวิหยาสะกำ
บทที่ 2
ถอดความ เป็นชมดง เกิดขึ้นในตอนที่อิเหนากำลังยกทัพไปเพื่อช่วยท้าวดาหา โดยระหว่างทางก็ชมนกชมไม้ไปด้วยแล้วเกิดความรู้สึกคิดถึงเมียทั้ง 3 คนของตัวเอง เห็นนกนางนวลเพื่อเกาะนอน ก็นึกถึงยามที่ตัวเองเคยนอนอิงแอบจินตะหรา เห็นนกจากพรากเกาะต้นจากแล้วส่งเสียงร้อง ก็คิดถึงสการะวาตี เห็นนกแขกเต้าเกาะต้นเต่าแล้วส่งเสียงร้องก็คิดถึงมาหยารัศมี เห็นนกแก้วจับต้นแก้วพูดเจรจาก็นึกถึงตอนที่นางทั้งสามมาสั่งลา เห็นนกเค้าโมงจับต้นโมงอยู่อย่างโดดเดี่ยวก็นึกถึงตัวเองที่นั่งนับโมงยามว่าจากชายามานานเท่าใดแล้ว เห็นนักคับแคจับต้นแคอยู่ตัวเดียวก็นึกถึงตัวเองที่กำลังอยู่สึกเปล่าเปลี่ยวอยู่ในป่า อิเหนาชมนกชมไม้ไปตลอดทางก่อนจะออกกำลังให้ทหารเร่งเดินทัพ
เกร็ดน่ารู้
บทที่ 3
ถอดความ เป็นตอนที่ท้าวกุเรปันส่งจดหมายไปถึงโอรสอย่างอิเหนาให้มาช่วยท้าวดาหารบ เพราะถึงครั้งหนึ่งอิเหนาจะเคยปฏิเสธบุษบาแต่อย่างไรก็มีศักดิ์เป็นญาติ อยู่ในวงศ์เทวาเหมือนกัน ท้าวดาหาเองก็มีศักดิ์เป็นอาเช่นกัน ดังนั้นถ้าเสียเมืองดาหาไป อิเหนาจะไม่อายหรือ และยังตั้งคำถามให้โอรสได้คิดอีกว่า ที่เกิดเรื่องวุ่นวายขึ้นมาจากใคร ซึ่งในตอนนี้ท้าวกุเรปันหมายถึงตอนที่อิเหนาปฏิเสธบุษบา ทำให้อับอายชาวเมืองดาหา ซึ่งถ้าตอนนั้นอิเหนาแต่งงานกับบุษยาไปตั้งแต่แรก ท้าวดาหาก็จะไม่ลั่นวาจาว่าจะยกบุษบาให้คนอื่น ท้าวกะหมังกุหนิงก็จะไม่มาสู่ขอและไม่เกิดสงคราม ดังนั้นถ้าไม่ยกทัพมาช่วย ถึงจะตายก็อย่ามาเผาผีและให้ตัดขาดพ่อลูกกันไปเลย
คุณค่าที่อยู่ในอิเหนา
ด้านเนื้อหาและสังคม
เนื้อของ อิเหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิง สะท้อนค่านิยมความเชื่อในเรื่องโหราศาสตร์ ก่อนทำการสงครามต้องให้โหรหลวงมาทำนายหรือต้องดูฤกษ์ก่อน นอกจากนี้ยังสะท้อนประเพณีและวัฒนธรรมของคนในอดีตที่ผู้ชายสามารถมีภรรยาหลายคนได้
ด้านวรรณศิลป์
รสวรรณคดี
- เสาวรจนีย์ เป็นบทชมความงาม ซึ่งในเรื่องนอกจากจะชมความงามของตัวละครหญิงแล้ว ยังพบในตอนอิเหนาชมศพของวิหยาสะกำด้วย
- พิโรธวาวัง เป็นการแสดงความโกรธ เนื่องจากในเรื่องมีการทำสงคราม เมื่อถึงจุดที่ขัดแย้งก็จะพบบ่อย ๆ อย่างเช่น ตอนที่ท้าวกะหมังกุหนิงโกรธท้าวดาหา หรือตอนที่ท้าวกุเรปันเขียนจดหมายต่อว่าอิเหนา
- สัลลาปังคพิสัย บทแสดงความเศร้า มักพบในตอนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของตัวละครในเรื่อง เช่น อิเหนาที่คิดถึงเมียแล้วเศร้า หรือเมียทั้ง 3 ของอิเหนาอาลัยอาวรณ์อิเหนาที่กำลังจะไปรบ
ภาพพจน์
มีการใช้อุปมาและอุปลักษณ์ในเรื่องมากมาย ทั้งการใช้อุปมา อุปลักษณ์ การเล่นเสียงสระ เสียงพยัญชนะ การเล่นคำพ้องเสียง คำพ้องรูป
ตัวอย่างอุปมา
กรุงกษัตริย์ขอขึ้นก็นับร้อย เราเป็นเมืองน้อยกระจิหริด
ดังหิ่งห้อยจะแข่งแสงอาทิตย์ เห็นผิดระบอบบุราณมา
ตัวอย่างอุปลักษณ์
หวังเป็นเกือกทองรองบาทา พระผู้วงศ์เทวาอันปรากฏ
จะขอพระบุตรีผู้มียศ ให้โอรสข้าน้อยดังจินดา
การเล่นเสียง
เล่นเสียงสระ เช่น ความกลัวความรักสลักทรวง ให้เป็นห่วงหลังกังวลหน้า
เล่นเสียงพยัญชนะ เช่น แว่วเสียงสำเนียงบุหรงร้อง ว่าเสียงสามนิ่มน้องเสน่หา
การเล่นคำ
เล่นคำพ้องเสียง เช่น เบญจวรรณจับวัลย์ชาลี เหมือนวันพี่ไกลสามสุดามา
เล่นคำพ้องรูป เช่น นางนวลจับนางนวลนอน เหมือนพี่แนบนวลสมรจินตะหรา
อิเหนาได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดแห่งละครรำ โดดเด่นในเรื่องอารมณ์ของตัวละครที่แสดงออกมาจากอย่างลึกซึ้ง ทั้งรัก โลภ โกรธ หลง แม้ตัวละครและเนื้อเรื่องดั้งเดิมจะเป็นของชาวชวา ด้วยวัฒนธรรมที่ไม่ต่างกันมาก ทำให้เมื่อปรับให้เข้ากับบริบทของสังคมแล้วก็ไม่ได้รู้สึกติดขัด นับว่าเป็นวรรณคดีอีกเรื่องหนึ่งที่สนุกและน่าติดตามมาก ไม่แปลกใจเลยใช่ไหมคะว่าทำไมถึงเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน ทุกยุคทุกสมัย สุดท้ายก่อนลากันในวันนี้ น้อง ๆ อย่าลืมไปชมคลิปสรุปความรู้เพื่อวิเคราะห์เนื้อเรื่องและฟังคำอธิบายเพิ่มเติมของแต่ละตัวบทนะคะ รับรองว่าได้ความรู้ดี ๆ เพิ่มขึ้นอีกแน่นอน
อย่าพลาดการติดตามบทความภาษาไทยจาก nockacademy