สำนวนไทยที่เกี่ยวกับศาสนา มีอยู่มากมายเลยทีเดียวค่ะ เพราะพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองเรามาตั้งแต่อดีตกาล ทำให้มีความเกี่ยวโยงไปถึงสำนวน ซึ่งเป็นเหมือนถ้อยคำที่ใช้สั่งสอนและให้ข้อคิดแก่ผู้คนมายุคต่อยุค บทเรียนภาษาไทยในวันนี้จะพาน้อง ๆ ไปเรียนรู้ถึงสำนวนไทยที่เกี่ยวกับศาสนา และคุณค่าที่อยู่ในสำนวน ถ้าพร้อมแล้ว ไปศึกษาเรื่องนี้พร้อม ๆ กันเลยค่ะ
สำนวนไทยที่เกี่ยวกับศาสนา
สำนวนไทยที่เกี่ยวกับศาสนา มาจากความเชื่อเรื่องศาสนาพุทธของคนไทย โดยความหมายของสำนวนจะมีทั้งสำนวนที่ยังมีเค้าของความหมายเดิม และสำนวนที่ความหมายเปลี่ยนไป
ตัวอย่างสำนวนไทยที่เกี่ยวกับศาสนา
ที่มาของสำนวน กรวดน้ำคว่ำขันเป็นสำนวนที่มีมาตั้งแต่โบราณ พบในนิราศเมืองแกลงที่ประพันธ์โดยสุนทรภู่
“จะกรวดน้ำคว่ำขันจนวันตาย แม้เจ้านายท่านไม่ใช้แล้วไม่มา”
กรวดน้ำ หมายถึง การรินน้ำจากภาชนะด้วยความปรารถนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนคว่ำขัน เป็นกิริยาที่ทำหลังจากเทน้ำเสร็จแล้ว จึงนำมาเปรียบเทียบกับการตัดความสัมพันธ์กับผู้คนที่ต้องการให้จบสิ้นกันไปหลังเทน้ำเสร็จ
ที่มาของสำนวน การคว่ำบาตรนั้นมีที่มาจากการที่พระสงฆ์พร้อมใจกันลงโทษผู้ที่คิดร้ายต่อศาสนาหรือพระสงฆ์ให้เข็ดหลาบ โดยวิธีลงโทษคือไม่คบหา ไม่พูดคุยด้วย และไม่รับอาหารบิณฑบาต คว่ำบาตร ไม่ยอมเปิดบาตรรับอาหาร เมื่อนำมาเป็นสำนวนจึงหมายถึงการไม่คบค้าสมาคม คล้ายกับกรวดน้ำคว่ำขัน ต่างกันตรงที่ว่า การคว่ำบาตรไม่ใช่การตัดความสัมพันธ์อย่างถาวร แต่เป็นแค่ระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ส่วนมากมักใช้กับการค้าขายระหว่างประเทศ ซึ่งจะเห็นได้บ่อย ๆ บนพาดหัวข่าว
ที่มาของสำนวน สำนวนนี้เป็นการเปรียบเปรยถึงการปิดทองด้านหลังพระพุทธรูป ที่โดยปกติแล้วเมื่อผู้คนมาทำบุญที่วัด
หลังสักการะพระพุทธรูปเสร็จแล้วก็จะนำแผ่นทองไปปิดด้านหน้า แต่การปิดทองพระพุทธรูปนั้นไม่ควรทำแค่ด้านใดด้านหนึ่ง แต่ต้องปิดทองให้ทั่วทั้งองค์เพื่อความสวยงาม หากไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระพุทธรูปองค์นั้นก็อาจจะสวยงามเพียงด้านหน้าด้านเดียว จึงนำมาเปรียบเทียบกับการทำความดี ว่าจะทำความดีเพื่อให้ได้รับคำชมไม่ได้ ให้ปิดทองหลังพระบ้าง แต่ในบางครั้ง สำนวน ปิดทองหลังพระก็ถูกใช้ในความหมายเชิงตัดพ้อ หรือน้อยใจได้ด้วย
ที่มาของสำนวน สำนวนบุญทำกรรมแต่งนั้นมีที่มาจากความเชื่อของคนไทยที่เชื่อเรื่องบุญและกรรมจากชาติปางก่อนที่จะส่งผลมาถึงชาติต่อไป ไม่ว่าเราจะทำบุญหรือบาป ผลของการกระทำจะส่งผลกับตัวผู้กระทำเสมอทั้งด้านดีหรือด้านไม่ดี โดยผลของกรรมตามความเชื่อนั้นจะแสดงออกมาผ่านรูปลักษณ์ภายนอก หรือฐานะทางการเงิน และอาจรวมไปถึงโรคภัยไข้เจ็บด้วย
จากการศึกษาเรื่องความหมายและที่มาของสำนวนไทยเกี่ยวกับศาสนาแล้ว จะเห็นได้ว่าความหมายของสำนวนมีทั้งด้านบวกและด้านลบ รวมไปถึงความหมายกลาง ๆ ที่ไม่ได้เป็นไปในทางใดทางหนึ่งแต่เน้นสอนถึงความเป็นไปในชีวิต สอนให้เห็นผลของการกระทำโดยมีศาสนามาเกี่ยวข้อง สะท้อนความเชื่อของคนไทยในเรื่องกรรม เรื่องโชคชะตา
คุณค่าของสำนวนไทยที่เกี่ยวกับศาสนา
สำนวนสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อของคนไทยในเรื่องบาปบุญคุณโทษ สะท้อนประเพณีของไทย นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นถึงความสามารถในการใช้ภาษาของคนโบราณ การเรียบเรียงถ้อยคำ การตัดรวบคำยาว ๆ ให้สั้นกระชับ จำง่าย และเป็นคำสอนที่เหนี่ยวรั้งจิตใจผู้คนให้คิดรอบคอบก่อนจะทำอะไร
จบไปแล้วนะคะสำหรับเรื่องสำนวนไทยที่เกี่ยวกับศาสนา นอกจากจะได้ความรู้เกี่ยวกับหลักศาสนาพุทธแล้ว การศึกษาสำนวนไทยจะทำให้เราได้ทั้งข้อคิดเตือนใจ ช่วยให้เราใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องและสละสลวยอีกด้วยค่ะ เห็นไหมคะน้อง ๆ ว่าสำนวนไทยของเรานั้นมีคุณค่าขนาดไหน สุดท้ายนี้ สำหรับน้อง ๆ ที่อยากฟังคำอธิบายถึงที่มาของสำนวนแบบสนุก ๆ และยังได้ความรู้ด้วย ก็สามารถตามไปดูคลิปการสอนย้อนหลังของครูอุ้มได้เลยค่ะ ดูจบแล้วก็อย่าลืมหมั่นทบทวนความรู้เกี่ยวกับสำนวนไทยนะคะ แล้วเจอกันในบทเรียนถัดไปค่ะ
ภาษาไทย ม.2 สำนวนไทยที่เกี่ยวกับศาสนา