บทนำ
สวัสดีน้อง ๆ ที่น่ารักทุกคน กลับเข้าสู่เนื้อหาภาษาไทยสนุก ๆ อีกแล้ว สำหรับเรื่องที่เราจะมาเรียนรู้กันวันนี้ เป็นบทเรียนที่ต่อจากครั้งที่แล้วเรื่องความเป็นมาของวรรณคดีอย่างบทพากย์เอราวัณ ซึ่งครั้งนี้เราจะมาศึกษาตัวบทที่น่าสนใจในเรื่องนี้กัน
ถ้าน้อง ๆ คนไหนพร้อมแล้วก็เตรียมตัวเข้าสู่เนื้อหากันได้เลย
ศึกษาตัวบทที่น่าสนใจ
คำศัพท์
กายิน หมายถึง กาย, ร่างกาย
อมรินทร์ หมายถึง พระอินทร์
คช หมายถึง ช้าง, ช้างพลาย
นิรมิต หมายถึง นิมิต, เนรมิต, บันดาลให้เกิดขึ้น
สีสังข์ หมายถึง สีขาว (สีเหมือนหอยสังข์)
โอฬาร์ หมายถึง ยิ่งใหญ่, ใหญ่โต, เลิศล้น
ถอดความได้ว่า
อินทรชิตได้จำแลงกายเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ซึ่งลักษณะของช้างที่เนรมิตมานี้ก็ดูแข็งแรงและมีฤทธา ผิวของช้างเอราวัณเป็นสีขาวเผือกผ่องสะอาดราวสีของสังข์และตัวใหญ่โตมาก ๆ
คำศัพท์
โสภา หมายถึง สวย, งาม
รูจี หมายถึง แสงสว่าง, ความงาม, ความรุ่งเรือง
โบกขรณี หมายถึง สระบัว
อุบล หมายถึง ดอกบัวสาย
ถอดความได้ว่า
ช้างนั้นมีสามสิบสามหัวแต่ละหัวมี 7 งา สวยงามราวกับเพชรที่ส่องแสงประกาย ในแต่ละงานั้นจะมีสระบัว 7 สระ แต่ละสระก็มีกอบัว 7 กอ
คำศัพท์
ดวงมาลย์ หมายถึง ดอกบัว
ผกา หมายถึง ดอกไม้
โสภา หมายถึง สวย, งาม
แน่งน้อย หมายถึง มีรูปร่างบอบบาง,
ลำเพา หมายถึง โฉมงาม
นงพาล หมายถึง สาวแรกรุ่น
ถอดความได้ว่า
กอบัวแต่ละกอมีดอกบัว 7 ดอก ในแต่ละดอกที่แบ่งบานนี้จะมีกลีบบัวอยู่ 7 กลีบ แต่ละกลีบจะมีเทพธิดา 7 องค์ แต่ละองค์ล้วนมีรูปโฉมงดงามมาก
คำศัพท์
เยาวมาลย์ หมายถึง หญิงสาวที่มีรูปโฉมงดงาม
มายา หมายถึง ลวงตา, มารยา, การแสร้งทำ
อัปสร หมายถึง นางฟ้า, เทพธิดา
บวร หมายถึง ประเสริฐ, ล้ำเลิศ
เกศ หมายถึง หัว, ศีรษะ
กุญชร หมายถึง ช้าง
เวไชยันต์ หมายถึง ปราสาทเวชยันต์ของพระอินทร์
ถอดความได้ว่า
เทพธิดาแต่ละองค์จะมีบริวารองค์ละ 7 คน ทั้งหมดนี้ล้วนเนรมิตขึ้นมาทั้งสิ้น นางเหล่านี้ฟ้อนระบำร่ายรำงดงามพริ้วไหวราวกับนางฟ้านางสวรรค์ลงมาร่ายรำให้ดู หัวของช้างแต่ละหัวนั้นก็จะมีวิมานตั้งอยู่ วิมานเหล่านั้นสวยดุจดั่งประสาทเวชยันต์ของพระอินทร์
ประเมินคุณค่า
- ด้านเนื้อหา
1. ได้ศึกษาวรรณคดีของชาติที่แสดงถึงวัฒนธรรมของคนไทย ซึ่งเป็นวรรณคดีที่ใช้ในการแสดงโขนมายาวนาน
2. ทำให้ทราบถึงลักษณะของช้างเอราวัณว่ามีลักษณะอย่างไร
3. แสดงถึงแง่มุมที่ให้ข้อคิดเรื่องการใช้ชีวิตอย่างมีสติ อย่าหลงเชื่อใคร หรือหลงเชื่ออะไรง่าย ๆ
- ด้านวรรณศิลป์
เป็นวรรณคดีที่แต่งได้อย่างมีชั้นเชิง สามารถใช้ภาษาอันไพเราะมาร้อยเรียงด้วยลักษณะคำประพันธ์อย่างกาพย์ฉบัง 16 ใช้การเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นความสวยงาม และลักษณะของช้างเอราวัณได้อย่างดี อาทิ
“เศียรหนึ่งเจ็ดงา ดั่งเพชรรัตน์รูจี”
“มีวิมานแก้วงามบวร ทุกเกศกุญชร ดังเวไชยันต์อัมรินทร์”
บทส่งท้าย
เป็นอย่างไรกันบ้างน้อง ๆ ทุกคน หลังจากได้ถอดคำประพันธ์กันแล้วพอจะเห็นภาพความสวยงาม และความยิ่งใหญ่ของช้างเอราวัณบ้างหรือเปล่า ต้องบอกว่าบทพากยฺเอราวัณ์นี้สามารถแต่งออกมาบรรยายลักษณะของช้างเอราวัณนี้ไว้ได้อย่างละเอียด และไพเราะมากจริง ๆ เป็นวรรณคดีอีกเรื่องที่เราต้องช่วยกันรักษาไว้ ส่วนน้อง ๆ คนไหนอยากจะศึกษาเพิ่มเติมแนะนำให้ดูครูอุ้มสอนที่คลิปด้านล่างนี้ได้เลย