นิราศภูเขาทอง
เชื่อว่าน้อง ๆ หลายคนคงจะเคยได้ยินเรื่องนิราศภูเขาทองผ่านหูกันมาบ้างไม่มากก็น้อย แต่น้อง ๆ ทราบหรือเปล่าคะว่านิราศภูเขาทองคืออะไร และมีที่มาอย่างไร ก่อนอื่นมาดูความหมายของนิราศกันก่อนนะคะ นิราศ คือวรรณคดีที่แต่งขึ้นเพื่อเล่าถึงการเดินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง โดยระหว่างการเดินทาง กวีก็จะนำสิ่งต่าง ๆ ที่ได้พบเห็น ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ วิวทิวทัศน์หรือความเป็นอยู่ของผู้คนมาพรรณนา
หลังจากเข้าใจความหมายของนิราศแล้วก็ไปเริ่มเรียนรู้ประวัติความเป็นมาและเรื่องย่อของนิราศภูเขาทอง หนึ่งในกลอนนิราศที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดีที่สุดของสุนทรภู่กันเลยค่ะ
ประวัติความเป็นมา
สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองขึ้นมาในสมัยรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่เจ้าหัว โดยสุนทรภู่นั้นแต่งนิราศเรื่องนี้จากการเดินทางไปนมัสการเจเดีย์ภูเขาทองซึ่งเชื่อว่ามีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ที่วัดภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ 2371 ซึ่งขณะนั้นได้บวชเป็นภิกษุอยู่วัดเลียบหรือวัดราชบูรณะฯในปัจจุบัน
ลักษณะคำประพันธ์ของนิราศภูเขาทอง
นิราศภูเขาทอง แต่งด้วยกลอนนิราศ คล้ายคลึงกับกลอนสุภาพต่างกันตรงที่กลอนสุภาพจะเริ่มต้นที่ 4 วรรคแรกคือ สลับ รับ รอง ส่ง แต่กลอนนิราศจะตัดวรรคสดับออกไปทำให้การขึ้นต้นเหลือแค่ 3 วรรคคือ รับ รอง ส่ง
เรื่องย่อ
นิราศภูเขาทองเป็นเรื่องที่สุนทรภู่ซึ่ง ณ ขณะนั้นบวชเป็นพระอยู่ที่วัดเลียบได้แต่งขึ้นตอนเดินทางจากจังหวัดกรุงเทพฯ ไปวัดภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งมีความเชื่อว่ามีพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าบรรจุอยู่ จุดมุ่งหมายในการแต่งนิราศภูเขาทองนั้นเพื่อบันทึกการเดินทางไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุและความรู้สึกต่อช่วงชีวิตที่ตกอับของตัวเอง เพราะหลังสิ้นรัชสมัยของพระพุทธเลิศล้านภาลัยชีวิตของสุนทรภู่ที่เคยสุขสบายก็พลิกผัน เมื่อผ่านไปยังสถานที่ต่าง ๆ จึงมักจะพรรณนาแล้วโยงเข้ากับชีวิตตัวเอง และเนื่องจากบวชเป็นพระอยู่จึงสอดแทรกเรื่องความรักเพียงเล็กน้อยเพื่อให้ตรงตามลักษณะของนิราศอื่น ๆ เท่านั้น ไม่ได้มีหญิงคนรักจริง ๆ
เส้นทางการเดินเรือในนิราศภูเขาทอง
เส้นทางการเดินเรือในนิราศภูเขาทองขาไปเริ่มที่สุนทรภู่ออกเดินทางจากวัดเลียบ ล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านสถานที่ต่าง ๆ ใน 4 จังหวัดคือ จังหวัดกรุงเทพ ฯ นนทบุรี ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา และขากลับเริ่มออกเดินทางแต่เช้าตรู่ ใช้เวลาเพียงวันเดียวเรือก็มาเทียบท่าหน้าวัดอรุณฯ
ตัวอย่างบทที่กล่าวถึงสถานที่
จากรูปด้านบน กวีกล่าวถึงตลาดขวัญ ตำบลหนึ่งในจังหวัดนนทบุรีซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
จากรูปด้านบน กวีกล่าวถึงเกาะใหญ่ ซึ่งชาวบ้านใช้เรียกตำบลท้ายเกาะ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ส่วนราชคราม เป็นชื่อเดิมอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
จากรูปด้านบน กวีกล่าวถึงวัดหน้าพระเมรุฯ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสุนทรภู่ได้ผ่านวัดนี้ก่อนจะมาถึงวัดภูเขาทอง
พอได้รู้ประวัติความเป็นมาและทราบเรื่องย่อกันแล้ว น้อง ๆ ก็คงจะเห็นแล้วใช่ไหมคะว่าสุนทรภู่นั้น เป็นกวีเอกที่มากความสามารถแค่ไหน เพราะสามารถหยิบยกธรรมชาติและผู้คนที่พบเห็นมาแต่งเป็นเรื่องราวให้มีความไพเราะได้ และนอกจากความสวยงามของภาษาแล้ว นิราศภูเขาทองยังสะท้อนภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในยุคสมัยนั้น รวมไปถึงสอดแทรกข้อคิดเตือนใจไว้มากมาย ทำให้นิราศภูเขาทองเป็นวรรณคดีที่ทรงคุณค่า ควรค่าแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง น้อง ๆ สามารถดูคลิปการสอนของครูอุ้มย้อนหลังเพื่อทำความเข้าใจเรื่องประวัติความเป็นมาของนิราศภูเขาทองให้มากขึ้นได้ที่คลิปข้างล่างนี้เลยค่ะ