จากที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับวรรณคดีกันมามากมายหลายเรื่อง น้อง ๆ หลายคนคงจะพอจะคุ้นหูและผ่านตากันมาบ้างแล้วกับคำประพันธ์ประเภท ฉันท์ แต่เมื่อเห็นครั้งแรก ด้วยความที่ไม่คุ้นเคยก็อาจจะทำให้น้อง ๆ คิดว่าคำประพันธ์ประเภทนี้แต่งยาก เพราะรู้สึกไม่คุ้นเคยเหมือนอย่างพวกกาพย์หรือกลอน แต่รู้หรือไม่คะ ว่าจริง ๆ แล้วการแต่งฉันท์ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิดเลยค่ะ บทเรียนในวันนี้นอกจากจะพาน้อง ๆ ไปเรียนรู้ความเป็นมาของฉันท์ รวมไปถึงลักษณะบังคับต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อฝึกแต่งกันค่ะ ถ้าพร้อมแล้วเราไปเรียนรู้เรื่องนี้กันเลยดีกว่า
ความเป็นมาของ ฉันท์
ฉันท์ เป็นคำประพันธ์หนึ่งของไทยที่รับอิทธิพลมาจากอินเดีย คำว่าฉันท์ มีรากศัพท์มาจาก ฉท, ฉันท ในภาษาสันสกฤต ซึ่งแปลว่า ปรากฏมีลักษณะเป็นที่น่าพึงพอใจ น่าพึงใจ ส่วนในภาษาบาลี คำว่าฉันท, ฉันโท มีความหมายสองอย่าง คือแปลว่าความปรารถนา ความตั้งใจ และคัมภีร์พระเวท หรือลักษณะคำประพันธ์
ต้นกำเนิดของฉันท์ เกิดขึ้นในสมัยพระเวทเมื่อราวสี่พันปีก่อน ซึ่งถ้อยคำในคัมภีร์พระเวทเป็นคำประพันธ์ประเภทฉันท์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือฉันท์ที่มีจำนวนคำไม่เกิน 50 พยางค์ และฉันท์ที่มีพยางค์ 50-106 พยางค์ โดยฉันท์ที่นิยมแต่งมี 8 ชนิด คือ คายตรี อนุษฏก ตริษฏก ชคตรี พฤหตี ปังกตี วิราฏ อุษณิก
ความเป็นมาของฉันท์ในประเทศไทย
เมื่อคัมภีร์วุตโตทัยแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทย กวีจึงได้ปรับปรุงให้เหมาะกับขนบร้อยกรองไทย เช่น จัดวรรค เพิ่มสัมผัส และเปลี่ยนลักษณะครุ-ลหุให้แตกต่างไปเล็กน้อย เพื่อเพิ่มความสวยงามของภาษาไทยลงไป โดยที่กวีไทยมิได้ดัดแปลงฉันท์ในคัมภีร์วุตโตทัยให้เป็นภาษาไทยครับทั้ง 108 ชนิด ต่อมา นายฉันท์ ขำวิไล เป็นผู้ดัดแปลงเพิ่มเติมให้เป็น ฉันทวรรณพฤติ เพิ่มจากที่มหาสมณะเจ้า พระปรมานุชิตชิโนรสทำไว้ 50 ชนิด เพิ่มขึ้นอีก 50 ชนิด รวมเป็น 100 ฉันท์ เมื่อรวมเข้ากับฉันท์มาตราพฤติอีก 8 ชนิดก็รวมเป็น 108 ชนิดครบถ้วน และจัดพิมพ์รวมเล่มทั้งหมดในพ.ศ. 2474
การแต่งฉันท์
ลักษณะบังคับของฉันท์
พยางค์
แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือครุ-ลหุ
1. ครุ หมายถึง เสียงหนัก เป็นคำหรือพยางค์ที่ประสมด้วยสระเสียงยาว
มีลักษณะดังนี้
- คำที่มีตัวสะกด
- คำที่ประสมด้วยสระ อำ ใอ ไอ เอา
- คำที่ประสมด้วยสระเสียงยาว ไม่มีตัวสะกด
2. ลหุ หมายถึง เสียงเบา
มีลักษณะดังนี้
- เป็นพยางค์ที่ประสมด้วยสระเสียงสั้น ในแม่ ก กา เช่น จะ ติ บุ และ เลอะ ฯลฯ
- เป็นพยางค์ตัวเดียว เช่น บ บ่ ฤ ณ ธ ก็ ฯลฯ
- สำหรับอำ ก็สามารถเป็นคำลหุได้ด้วยเช่นกัน
คณะ
คณะในลักษณะบังคับของฉันท์ หมายถึง ลักษณะการเรียงกันของเสียงครุ ลหุ กลุ่มละ 3 เสียง จึงจัดเป็น 1 คณะ ซึ่งมีทั้งหมด 8 คณะ ดังนี้
มะ คณะ ย่อมาจาก มารุต แปลว่า ลม ประกอบด้วยครุ 3 เสียง
นะ คณะ ย่อมาจาก นรา แปลว่า ฟ้า ประกอบด้วยลหุ 3 เสียง
ภะ คณะ ย่อมาจาก ภูมิ แปลว่า ดิน ประกอบด้วย ครุ ลหุ ลหุ
ยะ คณะ ย่อมาจาก ยชมาน แปลว่า พราหมณ์บูชายัญ ประกอบด้วย ลหุ ครุ ครุ
ชะ คณะ ย่อมาจาก ชลน แปลว่า ไฟ ประกอบด้วย ลหุ ครุ ลหุ
ระ คณะ ย่อมาจาก รวิ แปลว่า พระอาทิตย์ ประกอบด้วย ครุ ลหุ ครุ
สะ คณะ ย่อมาจาก โสม แปลว่า พระจันทร์ ประกอบด้วย ลหุ ลหุ ครุ
ตะ คณะ ย่อมาจาก โตย แปลว่า น้ำ ประกอบด้วย ครุ ครุ ลหุ
สัมผัส
สัมผัสเป็นส่วนที่กวีไทยเพิ่มเติมขึ้นมา เพื่อปรับปรุงฉันท์ให้เข้ากับลักษณะของร้อยกรองไทย แบ่งได้เป็น 3 แบบด้วยกัน
- สัมผัสแบบกาพย์ คือ ไม่มีสัมผัสระหว่างวรรคที่ 3 กับวรรคที่ 4
- สัมผัสแบบกลอนสังขลิก คือ ไม่มีสัมผัสระหว่างวรรคสุดท้ายของบทแรกกับวรรคที่สองของบทต่อไป ฉันท์ที่ส่งสัมผัสเช่นนี้จะเป็นฉันบทละ 3 วรรค
- สัมผัสแบบกลอนสุภาพ คือ มีการส่งสัมผัสระหว่างวรรคทุกวรรค และระหว่างบทด้วย
หลังจากที่เราได้เรียนรู้พื้นฐาน ที่มาของฉันท์ตั้งแต่อดีตกระทั่งเข้ามาเป็นบทร้อยกรองของไทย รวมไปถึงลักษณะบังคับของฉันท์กันไปแล้ว แต่บทเรียนการแต่งฉันท์ยังไม่หมดเพียงเท่านี้นะคะ บทเรียนต่อไปเราจะพาน้อง ๆ ไปทำความรู้จักกับฉันท์อีกประเภทหนึ่งซึ่งก็คือวิชชุมมาลาคำฉันท์นั่นเองค่ะ แต่ก่อนอื่นน้อง ๆ อย่าลืมทบทวนบทเรียนเรื่องคำฉันท์ในคลิปการสอนของครูอุ้มก่อนไปเรียนเรื่องถัดไปนะคะ ไปดูกันเลยค่ะ
อย่าพลาดการติดตามบทความภาษาไทยจาก nockacademy