คำราชาศัพท์ เป็นวัฒนธรรมทางภาษาของประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับระดับของผู้พูดและผู้ฟัง น้อง ๆ หลายคนคงคุ้นเคยกันมาบ้างแล้วเวลาฟังข่าวในพระราชสำนัก แต่รู้หรือไม่คะว่าความหมายจริง ๆ ของคำราชาศัพท์คืออะไร มีใครบ้างที่เราต้องใช้คำราชาศัพท์ด้วย บทเรียนภาษาไทยในวันนี้จะพาน้อง ๆ ไปทบทวนเรื่องคำราชาศัพท์พร้อมเรียนรู้คำราชาศัพท์ในหมวดร่างกายที่ใช้กับพระมหากษัตริย์กันค่ะ
ความหมายของคำราชาศัพท์
คำราชาศัพท์ หมายถึง คำที่ใช้กับพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมไปถึงพระสงฆ์ โดยที่มีคำศัพท์และลักษณะการใช้ที่แตกต่างกันออกไปตามระดับภาษา ฐานะของบุคคลในสังคมไทยแบ่งตามวัยวุฒิและชาติวุฒิได้ดังนี้
1. พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินี
2. พระบรมวงศานุวงศ์
3.พระภิกษุสงฆ์
4. ข้าราชการ
5. สุภาพชน
ซึ่งกลุ่มบุคคลที่เราจะต้องใช้คำราชาศัพท์ด้วยคือ พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ และพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งจะมีหลักการใช้และคำศัพท์ที่ต่างกันออกไป
คำราชาศัพท์ : ที่มาและความสำคัญ
แม้ไม่มีระบุแน่ชัดว่าคำราชาศัพท์เกิดขึ้นครั้งแรกในปีใด แต่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าคำราชาศัพท์มีใช้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ซึ่งเป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาเขมรและบาลีสันสกฤต อย่างคำว่า เสวย ทรง ถวาย ราชย์ พระธาตุ ฯลฯ
ความสำคัญของคำราชาศัพท์
1. ทำให้ใช้ภาษาเป็น ระดับของภาษามีหลายระดับ ทุกคนจึงจำเป็นต้องรู้ระดับของภาษาและเลือกใช้คำพูดให้ถูกต้อง เหมาะสมกับบุคคลนั้น ๆ
2. ทำให้รู้จักมารยาทสังคม ประเทศไทยอาจไม่ได้แบ่งชนชั้นวรรณะ แต่ก็มีลำดับขั้น มีบุคคลที่ควรจะให้เกียรติเนื่องจากทำคุณงามความดีให้ประเทศชาติ หากผู้ฟังมีสถานะทางสังคมที่สูงกว่าแล้วเราใช้คำพูดผิดก็อาจจะเป็นการไม่ให้เกียรติผู้ฟังได้
3.เข้าใจลักษณะสังคมไทย การที่ภาษามีหลายระดับ ทำให้เราเห็นวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของคนในชาติ รวมถึงการให้เกียรติซึ่งกันและกัน
คำราชาศัพท์ หมวดร่างกาย
พระพักตร์ หมายถึง หน้า
พระปราง หมายถึง แก้ม
พระนลาฏ,ลลาฏ หมายถึง หน้าผาก
พระเนตร/พระจักษุ หมายถึง ดวงตา
พระนาสิก หมายถึง จมูก
พระขนง หมายถึง คิ้ว
พระกรรณ หมายถึง หู
พระศอ หมายถึง คอ
พระเศียร หมายถึง ศีรษะ
พระหนุ หมายถึง คาง
พระโอษฐ์ หมายถึง ปาก
พระทนต์ หมายถึง ฟัน
พระหัตถ์ หมายถึง มือ
พระพาหา หมายถึง แขน
พระองคุลี, นิ้วพระหัตถ์ หมายถึง นิ้วมือ
พระอังคุฐ หมายถึง นิ้วโป้ง
พระดัชนี หมายถึง นิ้วชี้
พระมัชฌิมา หมายถึง นิ้วกลาง
พระอนามิกา หมายถึง นิ้วนาง
พระกนิษฐา หมายถึง นิ้วก้อย
พระองค์ หมายถึง ร่างกาย
พระอังสา หมายถึง บ่า, ไหล่
พระอุทร หมายถึง ท้อง
พระนาภี หมายถึง สะดือ
พระถัน หมายถึง เต้านม
พระฉวี หมายถึง ผิวหนัง
สรุป
ภาษาไทยเป็นเครื่องบ่งบอกวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศชาติ ดังนั้น แม้ว่าคำราชาศัพท์จะไม่ใช่คำทั่วไปที่เราใช้พูดกับเพื่อนหรือคุณครู แต่เด็ก ๆ ทุกคนก็ควรเรียนรู้ไว้ในฐานะคนไทย สุดท้ายนี้เพื่อให้น้อง ๆ ได้ทบทวนบทเรียนและทำแบบฝึกหัดได้แบบสบาย ๆ อย่าลืมไปดูคลิปการสอนย้อนหลังของครูอุ้มนะคะ