พจนานุกรม มาจากคำภาษาบาลีว่า วจน (อ่านว่า วะ-จะ-นะ) ภาษาไทยแผลงเป็น พจน์ แปลว่า คำ คำพูด ถ้อยคำ กับคำว่า อนุกรม แปลว่า ลำดับ เมื่อรวมกันแล้วพจนานุกรมจึงหมายถึงหนังสือที่รวบรวมคำโดยจัดเรียงคำตามลำดับตัวอักษร แต่ด้วยความที่คำในภาษาไทยของเรานั้นมีมากมาย ทำให้น้อง ๆ หลายคนอาจจะมีท้อใจบ้างเมื่อเห็นความหนาของเล่มพจนานุกรม ไม่รู้จะหาคำที่ต้องการได้อย่างไร บทเรียนในวันนี้จะพาน้อง ๆ ไปเรียนรู้ถึงวิธี การใช้พจนานุกรม กันค่ะว่าเราจะมีวิธีการอ่านและใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ถ้าพร้อมแล้วเราไปเรียนรู้เรื่องนี้พร้อมกันเลยค่ะ
ความเป็นมาของพจนานุกรมไทย
พจนานุกรมในช่วงแรกไม่ได้เรียงตามลำดับอักษร แต่รวบรวมคำศัพท์ภาษาไทยเพื่อประกอบการอ่านวรรณคดีร้อยกรอง ต่อมามีการจัดเรียงตามลำดับอักษรโดยกรมศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดพิมพ์พจนานุกรมเล่มแรกเมื่อปี พ.ศ. 2435 ภายหลังมีการจัดตั้งราชบัณฑิตยสถานขึ้นและตีพิมพ์พจนานุกรมฉบับใหม่ในปี พ.ศ. 2493
ประเภทของพจนานุกรม
พจนานุกรมมีแบ่งออกเป็นหลายประเภท เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ ดังนี้
- พจนานุกรมภาษา พจนานุกรมไทยเป็นไทย
- พจนานุกรมเฉพาะเรื่อง รวบรวมคำศัพท์ในเรื่องที่สนใจ เช่น พจนานุกรมศัพท์คอมพิวเตอร์
- พจนานุกรมประกอบภาพ เช่น พจนานุกรมหัตถกรรมและอุตสาหกรรมพื้นบ้าน
การใช้พจนานุกรม
เราสามารถหาคำที่ต้องการในพจนานุกรมได้อย่างง่าย ๆ โดยดูจากการเรียงลำดับคำในพจนานุกรม
เรียงตามพยัญชนะ
เรียงตามสระ
– พจนานุกรมจะเรียงตามรูป ไม่เรียงตามเสียง เช่นคำที่ขึ้นต้นด้วย ทร- ถึงจะออกเสียง ซ แต่คำที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะเหล่านี้จะอยู่ที่หมวดตัวอักษร ท
– คำที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะตามด้วยพยัญชนะ จะมาก่อนคำที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะตามด้วยสระ
– กรณีที่มีพยัญชนะและสระเหมือนกัน ให้สังเกตที่ตัวสะกด
– กรณีที่มีทั้งพยัญชนะ สระ และตัวสะกดเหมือนกัน ให้ดูที่วรรณยุกต์ ดังนี้ สามัญ เอก โท ตรี จัตวา แต่ถ้ามีไม้ไต่คู้ด้วย ไม้ไต่คู้จะมาก่อนวรรณยุกต์ เอก โท ตรี จัตวา
ตัวอย่างการเรียง
1. เริ่มจากพยัญชนะหรือคำที่ไม่มีสระปรากฏเป็นรูปประสม
ก กก กง กช กฎ กฎ กณ กด กต กถ กท กน กบ กป กม กร กฤ กล กว กษ กส กอ
2. ตามด้วยพยัญชนะกับสระปรากฏเป็นรูปประสมกัน
กะ กัก กา กำ กิก กีก กึก กุก กกู เก เกะ เกา เกาะ เกิน เกีย เกียะ เกือ แก แกะ โก โกะ ใก ไก
ข้อสังเกตเกี่ยวกับ การใช้พจนานุกรม
อักษรย่อในพจนานุกรม
อักษรย่อหน้าบทนิยาม บอกชนิดของคำตามหลักไวยกรณ์
ก. = กริยา
น. = นาม
บ. = บุพบท
ส. = สรรพนาม
ว. = วิเศษณ์
สัน. = สันธาน
อ. = อุทาน
อักษรย่อในวงเล็บท้ายบทนิยาม บอกที่มาของคำ
(ข.) = เขมร
(ช.) = ชวา
(ป.) = ปาลิ (บาลี)
(จ.) = จีน
(ส.) = สันสกฤต
(อ.) = อังกฤษ
อักษรย่อในวงเล็บหน้าบทนิยาม บอกลักษณะของคำที่ใช้เฉพาะ
(กฎ) คือ คำที่ใช้ในกฎหมาย
(กลอน) คือ คำที่ใช้ในบทร้อยกรอง
(คณิต) คือ คำที่ใช้ในคณิตศาสตร์
(ถิ่น) คือ คำที่เป็นภาษาเฉพาะถิ่น
(ราชา) คือ คำราชาศัพท์
(โบ) คือ คำโบราณ
พจนานุกรมไม่เพียงแต่บอกความหมายของคำ แต่นอกจากนี้ให้ความรู้ในเรื่องการเขียน บอกเสียงอ่าน ให้ความหมายของคำแต่เพียงสั้น ๆ มักให้ตัวอย่างของคำและอาจบอกประวัติที่มาของคำด้วย ถึงแม้ว่าในปัจจุบันเราจะเข้าถึงเทคโนโลยีกันได้ง่ายขึ้น สามารถสืบค้นหาคำต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องมานั่งเปิดพจนานุกรมแบบสมัยก่อน แต่พจนานุกรมก็ยังมีประโยชน์อยู่ในยามที่เราไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ อีกทั้งยังได้ฝึกสมาธิ และในระหว่างหาคำศัพท์ เราก็อาจจะได้พบคำศัพท์ใหม่ ๆ ผ่านตาเพิ่มพูนความรู้แก่ตัวเองได้อีกด้วย สุดท้ายนี้น้อง ๆ อย่าลืมทบทวนบทเรียน และไปฝึกทดสอบการเรียงคำพร้อมกับครูอุ้มได้ในคลิปการสอนย้อนหลัง เพื่อทำความเข้าใจและเรียงคำได้อย่างคล่องแคล่วมากขึ้นค่ะ
อย่าพลาดการติดตามบทความภาษาไทยจาก nockacademy