ภาษาเป็นกลไกสำคัญที่จะต้องเปลี่ยนแปลงควบคู่ไปกับสังคมมนุษย์ คำและประโยคในทุกภาษาอาจเปลี่ยนแปลงหรือหายไปพร้อมกับความเจริญและเสื่อมของสังคมตามยุคสมัย ภาษาที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจะถูกนับเป็นภาษาที่ตายแล้ว ภาษาไทยเป็นอีกภาษาหนึ่งที่ยังคงมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ บทเรียนในวันนี้เราจะพาน้อง ๆ ไปเรียนรู้เรื่อง การเปลี่ยนแปลงของประโยค หนึ่งในเรื่องราวที่น่าสนใจของเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางภาษา จะมีอะไรบ้างนั้น เราไปเรียนรู้พร้อม ๆ กันเลยค่ะ
การเปลี่ยนแปลงทางภาษา
ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภาษา
1. เกิดจากปัจจัยทางสังคม
2. ลักษณะการออกเสียงของผู้พูด ในบางครั้งผู้พูดจะไม่สามารถออกเสียงคำได้อย่างถูกต้องทุกคำ อาจจะพูดย่อหรือลดพยางค์ลงไป และในบางคำที่เป็นพยัญชนะควบกล้ำที่ออกเสียงยาก ผู้พูดก็จะหลีกเลี่ยงไม่ออกเสียง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภาษา
3. การยืมคำจากภาษาต่างประเทศ การยืมคำจากภาษาต่างประเทศที่มาใช้ร่วมกับภาษาไทยทำให้ภาษามีการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านเสียง คำ และโครงสร้างประโยค
การเปลี่ยนแปลงของประโยค
เป็นการเปลี่ยนระบบโครงสร้างของภาษาไทยให้ต่างไปจากเดิม มีลักษณะดังนี้
ลักษณะ การเปลี่ยนแปลงของประโยค
1. การใช้ประโยคกรรม
โดยปกติแล้วประโยคภาษาไทยจะเรียงแบบ ประธาน + กริยา + กรรม แต่ในปัจจุบันมีประโยคกรรมมากขึ้น คือย้ายกรรมมาไว้ต้นประโยคเหมือนเป็นประธาน
ตัวอย่าง สุนัขถูกตี สุนัขเป็นกรรมที่อยู่ต้นประโยค หรือ น้องสาวถูกรถชน น้องสาวเป็นกรรมที่อยู่ต้นประโยค
จากตัวอย่าง น้อง ๆ จะสังเกตได้ว่าประโยคกรรมเหล่านี้มักมีคำว่า ถูก อยู่หน้ากริยาทำให้โครงสร้างของประโยคที่คนนิยมใช้ส่วนมากจะเป็น กรรม + ถูก + กริยา นอกจากนี้ยังมีอีกคำหนึ่งซึ่งก็คือคำว่า ได้รับ ทั้งคำนี้จะถูกใช้ในบริบทที่ต่างกันออกไป
2. การใช้ประโยคสรรพนามว่า มัน
เป็นการเรียงประโยคที่ได้รับอิทธิพลมาจากไวยากรณ์อังกฤษในการใช้คำว่า it หรือ มัน ขึ้นต้นประโยค โดยที่สรรพนาม มัน นั้นไม่ได้แทนสัตว์หรือสิ่งของใด ๆ
ตัวอย่าง มันถึงเวลาแล้ว
มันจะผ่านไปด้วยดี
มันเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องอบรมลูก
3. ประโยคมีอาการนามมากขึ้น
อาการนาม คือ คำนามที่บอกกิริยาอาการหรือสภาวะต่าง ๆ ของคน สัตว์ และสิ่งของ ซึ่งมักจะมีคำ “ความ” หรือ “การ” นำหน้าคำกริยาหรือคำวิเศษณ์ ประโยคในปัจจุบันมีการนำอาการนามมาเพิ่มในประโยคเยอะขึ้นทำให้ประโยคยาวกว่าเดิม
ตัวอย่าง การแยกขยะให้ถูกต้องจะช่วยจัดการปัญหาเรื่องขยะได้ดี
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาเป็นผลของความพยายาม
4. ประโยคที่นำส่วนขยายมาไว้ต้นประโยค
ส่วนขยายในประโยคภาษาไทยมักจะอยู่หลังคำหรือวลีที่ถูกขยาย แต่การเปลี่ยนแปลงทางประโยคทำให้ปัจจุบันคนนิยมนำส่วนขยายมาไว้ต้นประโยคกันเป็นจำนวนมาก
ตัวอย่าง สีแดงของเสื้อเธอมันแสบตาฉันเหลือเกิน
วัวัฒนาการของภาษามีการเปลี่ยนไปแปลงไปเรื่อย ๆ เป็นธรรมชาติของภาษาที่ยังไม่ตายทำให้โครงสร้างประโยคถูกเปลี่ยนไปมีหลายรูปแบบมากขึ้น อาจจะสะดวกในการสื่อสาร แต่น้อง ๆ ก็ต้องหมั่นทบทวนและแยกให้ออกด้วยนะคะว่าประโยคไหนเป็นแบบไหน เพื่อป้องกันไม่ให้เข้าใจผิดและสับสนค่ะ สุดท้ายนี้น้อง ๆ สามารถตามไปดูคลิปการสอนของครูอุ้มเพื่อฟังคำอธิบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนของประโยคเพิ่มเติมได้ ก่อนที่บทเรียนในครั้งหน้าเราจะไปเรียนรู้อีกหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงทางภาษาอย่างการเปลี่ยนแปลงคำกันค่ะ ไปดูกันค่ะ
อย่าพลาดการติดตามบทความภาษาไทยจาก nockacademy