กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นวรรณคดีที่สำคัญในฐานะสารคดี เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น บทเรียนในวันนี้จะพาน้อง ๆ ไปหาคำตอบของวรรณคดีเรื่องดังกล่าวว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร ใครเป็นผู้แต่ง พร้อมเรียนรู้ความหมายของกาพย์ห่อโคลงและเนื้อเรื่องโดยสรุปของเรื่องด้วย ไปเรียนรู้เรื่องนี้พร้อมกันเลยค่ะ
ความเป็นมาของ กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง
กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดงเป็นบทชมธรรมชาติที่แต่งเพื่อความเพลิดเพลินระหว่างการเดินทางของกระบวนเสด็จทางสถลมารคจากท่าเจ้าสนุกถึงธารทองแดง ซึ่งธารทองแดงในที่นี้ เป็นชื่อลำน้ำที่เขาพระพุทธบาท ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งของพระตำหนักธารเกษมที่มีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงพระนิพนธ์วรรณคดีเรื่องนี้ขึ้นเมื่อครั้งตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไปนมัสการพระพุทธบาท ที่จังหวัดสระบุรี
ประวัติเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร
เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระองค์ทรงเป็นกวีเอกในสมัยอยุธยาตอนปลาย ปีเกิดไม่ปรากฏ แต่ทรงสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2298 งานพระราชนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรที่โด่งดัง เป็นที่รู้จักในฐานะวรรณคดีอันทรงคุณค่าและเป็นแบบเรียนภาษาไทยให้กับคนรุ่นหลังมีมากมาย อาทิเช่น พระมาลัยคำหลวง กาพย์เห่เรือ เป็นต้น
จุดประสงค์ในการแต่ง
ลักษณะคำประพันธ์
แต่งเป็นกาพย์ห่อโคลง ที่มีกาพย์ยานีหนึ่งบทสลับกับโคลงสี่สุภาพหนึ่งบท คำต้นบาทของโคลงมักเป็นคำต้นวรรคของกาพย์
เรื่องย่อ กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง
การดำเนินเรื่องของกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดงจะมีลักษณะคล้ายกับนิราศ คือ พรรณนาถึงการเดินทาง แตกต่างจากนิราศตรงที่ไม่ได้คร่ำครวญถึงนางอันเป็นที่รัก แต่เป็นการเล่าเรื่องขณะตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไปนมัสการรอยพระพุทธบาทจากท่าเจ้าสนุกผ่านตำบลธารทองแดง จังหวัดสระบุรี ซึ่งมีธารน้ำเล็ก ๆ ชื่อ ธารทองแดง โดยระหว่างทางก็จะมีการพูดถึงสัตว์นานาชนิด เช่น ช้าง กระบือ กวาง เสือเหลือง เสือดาว ละมั่ง เลียงผา งูเหลือม ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีพืชพรรณธรรมชาติอีก เช่น สาเก มะยม ไม้ดอก ไม้ผล ฯลฯ ในตอนท้ายเรื่อง กล่าวถึงรายละเอียดผู้แต่ง วัตถุประสงค์การแต่ง และ จุดประสงค์ที่แต่งขึ้นและวิธีอ่านโคลงให้ไพเราะ
อ่านกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดงเต็ม ๆ ได้ที่ห้องสมุดออนไลน์ tu digital collection
เป็นอย่างบ้างไรคะน้อง ๆ ได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมาของวรรณคดีกันไปแล้ว ก็คงจะรู้แล้วใช่ไหมคะว่าทำไมวรรณคดีเรื่องนี้ถึงได้มาอยู่ในแบบเรียนภาษาไทย ในบทต่อไปเราจะพาน้อง ๆ ไปถอดคำประพันธ์ของตัวบทเด่น ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติม แต่ก่อนจะลากันไปในวันนี้ อย่าลืมตามไปดูคลิปการสอนของครูอุ้มเพื่อทบทวนบทเรียนและฝึกทำแบบฝึกหัดนะคะ ไปดูกันเลยค่ะ
อย่าพลาดการติดตามบทความภาษาไทยจาก nockacademy