กลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้า เป็นวรรณคดีที่ไทยที่ถูกแปลมาจากภาษาอังกฤษ น้อง ๆ คงจะสงสัยกันใช่ไหมคะว่าทำไมเราถึงได้เรียนวรรณคดีที่ถูกแปลจากภาษาอื่นด้วย บทเรียนในวันนี้จะพาน้อง ๆ ไปทำความรู้จักวรรณคดีที่ทรงคุณค่าอีกเรื่องหนึ่งว่ามีที่มาและเรื่องย่ออย่างไร ใครเป็นผู้แต่งในฉบับภาษาไทย ถ้าพร้อมที่จะเรียนรู้แล้วก็ไปดูกันเลยค่ะ
ความเป็นมา กลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้า
วรรณคดีเรื่องกลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้า วรรณคดีเรื่องนี้มีที่มาจากกวีนิพนธ์อังกฤษชื่อ Elegy Written in a country churchyard ของ ธอร์มัส เกรย์ กวีชาวอังกฤษ ซึ่งประพันธ์หลังจากที่คนใกล้ชิดของกวีเสียชีวิตลงในเวลาใกล้เคียงกัน เสฐียรโกเศศได้นำมาแปลเป็นภาษาไทย โดยรำพึง ในภาษาไทยมีความหมายว่า คิดถึง ต่อมาพระยาอุปกิตศิลปสารได้นำไปประพันธ์เป็นบทร้อยกรองกลอนดอกสร้อยจำนวน 33 บท
ประวัติผู้ประพันธ์บทร้อยกรอง พระยาอุปกิตศิลปสาร
พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) เกิดวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2422 เป็นบุคคลสำคัญต่อวงการศึกษาไทยอย่างมาก เนื่องจากเป็นผู้แต่งตำราอักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ และฉันทลักษณ์ แต่นอกจากด้านการศึกษาแล้ว ผลงานด้านการประพันธ์ของพระยาอุปกิจศิลปสารก็ยังโดดเด่นมาก ๆ อีกด้วย ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง และที่สำคัญไปกว่านั้น พระยาอุปกิตศิลปสารยังเป็นผู้บัญญัติคำทักทายที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้อย่างคำว่า “สวัสดี”
ในการประพันธ์เรื่องนี้ พระยาอุปกิตศิลปสารก็ได้นำคำดั้งเดิมมาประยุกต์ให้กับความเป็นไทย เช่น
ต้นไอวี เปลี่ยนเป็น เถาวัลย์
ต้นเอล์ม เปลี่ยนเป็น ต้นโพธิ์
แมลงบีตเทิล เปลี่ยนเป็น จิ้งหรีดเรไร
ลักษณะคำประพันธ์
กลอนดอกสร้อยทั้ง 33 บทนี้ ถูกแต่งเพิ่มจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ 1 บท ในแต่ละบทจะประกอบไปด้วยกลอนสุภาพจำนวน 2 บท หรือ 4 คำกลอน (มี 8 วรรค) แต่วรรคแรกจะมี 4-5 โดยคำที่ 2 ของวรรคแรกจะใช้คำว่า “เอ๋ย” และจบคำสุดท้ายของบทด้วยคำว่า “เอย” ลักษณะสัมผัสจะเหมือนกลอนสุภาพทุกประการ
เรื่องย่อ กลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้า
บทประพันธ์กล่าวถึงบุคคลหนึ่งที่ไปนั่งอยู่ในป่าช้าในเวลาพลบค่ำ ศพในป่าช้าเป็นศพของชาวนาชาวไร่ บรรยากาศและเสียงระฆังทำให้รู้สึกวังเวง จึงรำพึงถึงวิญญาณนักรบ กวี นักการเมือง ที่ไม่ว่าจะมีสถานะหรืออาชีพที่ต่างกันอย่างไรสุดท้ายก็ต้องนอนจมใต้กองดินเหมือนกันหมด แม้จะเสียดายชีวิตแต่ก็ไม่มีใครหนีความตายพ้น
ถึงแม้ว่ากลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้าจะเป็นวรรณคดีที่แปลมาจากภาษาต่างประเทศ แต่ผู้ประพันธ์ก็ไม่ละทิ้งความเป็นไทย เพราะเนื้อเรื่องได้ถูกปรับให้เข้ากับความเป็นไทยมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมหรือบุคคล เรียกได้ว่าเป็นวรรณคดีแปลที่อ่านแล้วยังได้กลิ่นความเป็นไทยอัดแน่นอยู่ทุกตัวอักษรเลยนะคะ ก่อนจะไปศึกษาบทตัวต่อไปในเรื่องของตัวบทเด่น ๆ และคุณค่าที่อยู่ในเรื่อง น้อง ๆ อย่าลืมทบทวนความรู้ในบทนี้ควบคู่กับชมคลิปการสอนของครูอุ้มไปด้วยนะคะ
อย่าพลาดการติดตามบทความภาษาไทยจาก nockacademy