น้อง ๆ สงสัยกันไหมคะว่าในภาษาที่เราใช้พูดและใช้เขียนกันอยู่นี้ มีคำไหนบ้างที่ถูกหยิบยืมมาจากต่างประเทศ บทเรียนภาษาไทยในวันนี้จะพาน้อง ๆ ไปทำความรู้จักและศึกษาลงลึกถึงภาษาชวาและมลายู เป็นอีกหนึ่งภาษาที่เข้ามามีอิทธิพลกับภาษาไทยมาตั้งแต่สมัยอดีต ถ้าพร้อมแล้วเราไปเรียนรู้เรื่องนี้ด้วยกันเลยค่ะ
ความเป็นมาของการยืมคำจากภาษาชวา มลายู
ทางตอนใต้ของประเทศไทยติดต่อกับประเทศมาเลเซีย จึงทำให้มีการติดต่อค้าขายสานสัมพันธ์ไมตรีกันมาตั้งแต่สมัยอดีต โดยเดิมทีชาวชวาและชาวมลายูเคยใช้ภาษามลายูร่วมกัน ต่อว่าชาวชวามีภาษาเป็นของชนชาติตัวเอง แต่ก็ยังมีบางคำที่คล้ายคลึงกับภาษามลายูอยู่
1. คำยืมภาษาชวา
เพราะอิทธิพลของวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนปลายเรื่องดาหลังและอิเหนา วรรณคดีเรื่องนี้เป็นที่นิยมถูกนำมาปรับปรุงและประพันธ์เป็นบทละคร โดยในเรื่องมีภาษาชวาอยู่เยอะมาก ทำให้เป็นที่รู้จักและถูกหยิบยืมมาใช้ในการประพันธ์เรื่อยมา
2. คำยืมภาษามลายู
การค้าขายในอดีตทำให้บริเวณชายแดนของประเทศที่ติดกับประเทศมาเลเซียได้รับอิทธิพลทั้งด้านภาษาและวัฒนธรรมมา
ลักษณะของภาษาชวา มลายู
ภาษาชวา มลายูจัดเป็นภาษาติดต่อ หมายถึง ภาษาที่มีการเติมหน้า (prefix) เติมกลาง (Infix) และ เติมหลัง (suffix) เข้าไปประกอบให้เกิดเป็นคำต่าง ๆ เมื่อประกอบกันแล้วคำเดิมและคำเติมยังคงรูปอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นภาษาที่มีแบบแผนกว่าภาษาอื่น ๆ
ข้อสังเกตภาษาชวา มลายูในภาษาไทย
1. คำที่ยืมมามักเป็นคำสองพยางค์ เช่น ละมุด ทุเรียน ลางสาด พันตู บุหงา มังคุด เป็นต้น
2. ไม่มีเสียงควบกล้ำ เช่น ปาเต๊ะ โนรี โกดัง เป็นต้น
3. เสียงวรรณยุกต์ไม่มีผลต่อการจำแนกความหมาย
คำศัพท์ภาษาชวา มลายูในภาษาไทย
คำในวรรณคดี เช่น
ตุนาหงัน หมายถึง การหมั้น
สตาหมัน หมายถึง สวนดอกไม้
ยี่หวา หมายถึง ชีวิต จิตใจ
บุหลัน หมายถึง พระจันทร์
ชื่อพืชและชื่อสัตว์ เช่น
การะบุหนัง หมายถึง ดอกแก้ว
นวาระ หมายถึง ดอกกุหลาบ
มิสา หมายถึง ควาย
ชื่อสิ่งของ เช่น
มิยา หมายถึง โต๊ะวางของ
มุสะ หมายถึง มุ้ง
กระจับปี่ หมายถึง เครื่องดนตรี
ใช้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม เช่น
ยี่เก หมายถึง ลิเก
ใช้เกี่ยวกับสถานที่ เช่น
ขุหนุง หมายถึง ภูเขา
สะตาหมัน หมายถึง สวน
บายสุหรี หมายถึง สระน้ำ
จบไปแล้วนะคะสำหรับเรื่องลักษณะภาษาชวา มลายุในภาษาไทย แม้ฟังจากชื่อน้อง ๆ บางคนอาจไม่คุ้น นึกภาพไม่ออกว่ามีคำไหนบ้าง แต่เมื่อรู้แล้วก็คงจะอ๋อกันทันทีเลยใช่ไหมคะว่าที่จริงเราก็ใช้คำภาษาต่างประเทศสื่อสารกันอยู่บ่อย ๆ หลังจากเรียนเรื่องนี้ไปแล้ว น้อง ๆ อย่าลืมลองสังเกตสิ่งรอบข้างดูนะคะว่ามีคำไหนอีกบ้างนอกเหนือจากตัวอย่างที่ยกมา สุดท้ายนี้ เพื่อไม่ให้ลืมในสิ่งที่เรียนไป ต้องหมั่นทำแบบฝึกหัดและทบทวนอยู่เสมอนะคะ ระหว่างที่ทบทวนก็เปิดคลิปครูอุ้มไปด้วย รับรองว่าจะเข้าใจเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้นแน่นอนค่ะ ไปดูกันเลย
อย่าพลาดการติดตามบทความภาษาไทยจาก nockacademy