ความสำคัญของสัญลักษณ์พื้นฐานเกี่ยวกับเซต
เราจะใช้สัญลักษณ์เกี่ยวกับเซตแทนข้อความหลายๆข้อความ เพื่อความเข้าใจง่าย ทำให้ข้อความดูสั้นลง ในเนื้อหาคณิตศาสตร์ส่วนใหญ่จะใช้สัญลักษณ์เกี่ยวกับเซตค่อนข้างเยอะ เราจึงจำเป็นที่จะต้องรู้จักสัญลักษณ์ต่างๆเพื่อที่จะทำความเข้าใจเนื้อหาต่างๆได้ง่ายขึ้น
สัญลักษณ์พื้นฐานเกี่ยวกับเซต
1.) ∈,∉
∈ แทน เป็นสมาชิกของเซต
∉ แทน ไม่เป็นสมาชิกของเซต
เช่น a เป็นสมาชิกของเซต A จะเขียนแทนด้วย a ∈ A
a ไม่เป็นสมาชิกของเซต A จะเขียนแทนด้วย a ∉ A
2.) =, ≠
= แทน การเท่ากัน
≠ แทนการไม่เท่ากัน
การที่เซตแต่ละเซตจะเท่ากันนั้น สมาชิกทุกตัวในเซตแต่ละเซตต้องเหมือนกัน
เช่น ให้ A = {a,b,c} , B = {c,a,b} และ C = {a,c,f}
จะเห็นกว่า A และ B มีสมาชิกเหมือนกันทุกตัว
ดังนั้น เซต A เท่ากับ เซต B เขียนแทนด้วยสัญลักษณ์ A = B
แต่ สมาชิกในเซตC มีสมาชิกบางตัวที่ไม่เหมือนกับเซตA และ B
ดังนั้น A ≠ C และ B ≠ C
3.) Ø หรือ { } แทน การเป็นเซตว่าง
เซตว่าง คือ เซตที่ไม่มีสมาชิก
เช่น A = {x | x เป็นจำนวนนับ และ x<0 }
จากที่เรารู้กันอยู่แล้วว่าจำนวนนับคือ ตัวเลขตั้งแต่ 1,2,3… จะเห็นว่าไม่มีจำนวนนับที่น้อยกว่า 0 ดังนั้น A จึงไม่มีสมาชิก จะได้ว่า A = Ø หรือ จะเขียนว่า A = { } ก็ได้
4.) ⊂ แทน เป็นสับเซตของเซต
เช่น ให้ A = {a,b} B = {a,b,c,d}
จะเห็นกว่า สมาชิกทุกตัวใน A เป็นสมาชิกใน B ด้วย
ดังนั้น A เป็นสับเซตของ B เขียนแทนด้วย A ⊂ B
5.) ∪ เรียกว่า ยูเนียน คือ การรวมสมาชิกของเซตหลายเซตมารวมกัน
6.) ∩ เรียกว่า อินเตอร์เซกชัน
ดูเนื้อหาเรื่องการยูเนียนและการอินเตอร์เซคชัน
สัญลักษณ์อื่นๆที่อาจจะเกี่ยวข้อง
สัญลักษณ์ที่เราควรรู้ไว้ เพราะเราจะต้องเจอสัญลักษณ์เหล่านี้ในการเรียนคณิตศาสตร์
R แทน เซตของจำนวนจริง
Iº แทน จำนวนเต็มศูนย์
I¯แทน เซตของจำนวนเต็มลบ
N แทน เซตของจำนวนนับ
ตัวอย่าง
1.) ให้ A = { x| x เป็นจำนวนนับ และ 1<x<4} และ B = {2,3}
จากโจทย์ จะได้ว่า 2 ∈ A และ 3 ∈ A เพราะ เงื่อนไขบอกว่า x ต้องเป็นจำนวนนับที่มากกว่า 1 และ น้อยกว่า 4 ดังนั้น ค่า x ที่เป็นไปได้คือ 2 และ 3 เท่านั้น
และจากที่เรารู้ว่า สมาชิกของ A ประกอบด้วย 2 และ 3 เราจะสังเกตเห็นว่า สมาชิกทุกตัวของ A เหมือนกับสมาชิกทั้งหมดใน B ดังนั้น เราสามารถสรุปได้ว่า A = B
2.) ให้ C = {x,x,x,y} และ D = {x,y}
จากโจทย์ เราจะได้ว่า
1. x ∈ C , x ∈ D , y ∈ C และ y ∈ D
2. C = D เพราะจะเห็นว่า {x,x,x,y} มีสมาชิกซ้ำกัน โดยปกติแล้ว ถ้ามีสมาชิกในเซตซ้ำกันเราจะนิยมเขียนเพียงตัวเดียว ดังนั้น {x,x,x,y} สามารถเขียนได้อีกแบบ คือ {x,y}
3.) กำหนดให้ A = {5,6,7}
B = { x | x เป็นจำนวนเต็มที่สอดคล้องกับสมการ (x-5)(x-6)(x-7) = 0}
C = { x | x เป็นจำนวนเต็ม และ 4< x < 8}
D = { x | x เป็นจำนวนเต็มคี่ที่น้อยกว่า 9 }
พิจารณาข้อความว่าสมาชิกแต่ละเซตมีอะไรบ้าง เซตใดเท่ากันและเซตไหนไม่เท่ากัน
วิธีทำ หาสมาชิกของเซต B, C และ D
พิจารณา B ; x เป็นจำนวนเต็มที่สอดคล้องกับสมาการ (x-5)(x-6)(x-7) = 0 จะได้ว่า x = 5,6,7
ดังนั้น 5 ∈ B , 6 ∈ B และ 7 ∈ B เขียนเซต B แบบแจกแจงสมาชิกจะได้ B = {5,6,7}
พิจารณา C ; x เป็นจำนวนเต็มที่มากกว่า 4 และน้อยกว่า 8 ดังนั้น x = 5,6,7
จะได้ว่า 5,6,7 ∈ C เขียนเซต C แบบแจกแจงสมาชิกจะได้ C = {5,6,7}
พิจารณา D ; x เป็นจำนวนเต็มคี่ที่น้อยกว่า 9 ดังนั้น D = {…,-3,-1,1,3,5,7}
จาก B = {5,6,7}, C = {5,6,7} และ D = {…,-3,-1,1,3,5,7}
ดังนั้น A=B=C แต่ A ≠ D , B ≠ D และ C ≠ D